กลุ่มทะลุวัง: งบสถาบันกษัตริย์ 95,000 ล้านบาท จริงหรือ?

กลุ่มทะลุวังเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ใจกลางสยามพารากอนด้วยวิธีการที่ฉลาดอย่างการ “ทำโพล” ให้คนเดินผ่านไปผ่านมาได้โวตด้วยการติดสติกเกอร์ โพลแรกของกลุ่มคือ “คุณคิดว่าขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่?” ซึ่งผลโพลคือ 85 คนคิดว่าเดือดร้อน 0 คนคิดว่าไม่เดือดร้อน กลุ่มทะลุวังจึงปิดท้ายด้วยการไปส่งผลโพลที่วังสระปทุม แต่ถูกตำรวจนอกและในเครื่องแบบขัดขวางอย่างแข็งขัน1 ต่อมาในวันที่ 30 มีนาคม กลุ่มทะลุวังโพสข้อความในเพจดังนี้

กลุ่มทะลุวังรวบรวมงบประมาณสถาบันฯปี 2565 มาได้ประมาณ 95,000 ล้านบาท แต่ทำไมประชาไทประเมินอย่างละเอียดแต่ได้ประมาณ 35,760 ล้านบาท2 และพรรคก้าวไกลใช้ตัวเลขที่ใกล้เคียงประชาไทในการอภิปรายในรัฐสภาเช่นกัน 33,712 ล้านบาท3 ซึ่งนับว่าสูงอยู่แล้ว เหตุใดกลุ่มทะลุวังรวบรวมได้ถึงสามเท่าของประชาไทที่ทำการรวบรวมมาแล้วสามปีซ้อน และมากกว่าพรรคการเมืองอย่างก้าวไกลที่ข้อมูลต้องมีความแม่นยำในการอภิปราย? ที่สำคัญเหตุใดกลุ่มทะลุวังถึงไม่มีการแจกแจงรายละเอียดเป็นตารางเพื่อที่จะนำมาตรวจสอบต่อไป

ต่อมาวันที่ 31 มีนาคม กลุ่มทะลุวังได้โพสรูปที่มีข้อความว่า “อย่าหลงเชื่อ ครอบครัวปรสิต 35,760 ล้านบาท ตอแหล!” ซึ่งตัวเลขนี้ทางประชาไทเป็นผู้รวบรวมต่างหาก ไม่ได้มีรัฐมารวบรวมให้อย่างที่ทางกลุ่มเข้าใจ ผมในฐานะผู้ติดตามกลุ่มมาตั้งแต่แรกมีความรู้ผิดหวังกับข้อมูลแบบนี้ที่สร้างความเข้าใจผิดแก่ประชาชนที่สนใจเรื่องงบประมาณแผ่นดินแม้กระทั่งนักเคลื่อนไหวในฝ่ายประชาธิปไตยคงมีความเคลือบแคลงเช่นกัน บางท่านในคอมเมนท์ได้เชื่อไปแล้วว่า 35,760 ล้านบาทนั้นเป็นตัวเลขหลอกแต่ความจริงแล้วเป็นตัวเลขที่ตรวจสอบมาอย่างดีโดยใช้วิธีการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบประมาณ 25634

ภาพจากกลุ่มทะลุวัง วันที่ 31 มีนาคม 2565

อย่างไรก็ตามในวันเดียวกันกลุ่มทะลุวังได้ไปทำโพลบริเวณถนนราชประสงค์ “คุณต้องการจ่าย ‘ภาษี’ เลี้ยง ‘ราชวงศ์’ หรือไม่?” ผลคือ 504 คน ไม่ต้องการจ่ายภาษี และมี 8 คน ต้องการจ่ายภาษี ต่อมาอีก วันที่ 4 เมษายน กลุ่มทะลุวังโพสข้อมูลเบื้องหลังของ 95,000 ล้านบาท อธิบายดังนี้

ทะลุวังชวนประชาชนร่วมกันตรวจสอบการใช้งบประมาณ จากเอกสารทั้งหมดนี้ เมื่อผมเปิดเข้าไปดูทันใดนั้น มีไฟล์ตาราง 4 ไฟล์ที่เต็มไปด้วยข้อมูลมากมาย ผมคัดเอางบเฉพาะปี 2565 ในไฟล์ 0-รวบรวมงบประมาณเจ้ารวม 63-65.numbers มาตรวจสอบทีละส่วนดังนี้ (หรือ PDF version)

1. งบส่วนพระองค์

ข้อถกเถียงอาจจะเริ่มด้วยความหมายของ “งบส่วนพระองค์” ในความคิดเห็นของผมงบส่วนนี้นับเฉพาะงบ ส่วนราชการในพระองค์ เท่านั้น หมายความว่างบส่วนนี้กษัตริย์สามารถบริหารได้ตามพระราชอัธยาศัย ซึ่งจะเท่ากับ 8,761 ล้านบาท ในส่วนที่กลุ่มทะลุวังนำเสนอ นอกจากจะจัดประเภทไม่ถูกต้องแล้ว ยังมีหลายส่วนที่เพิ่มเข้ามาจากการตีความจากชื่อ เช่น สถาบันพระบรมราชชนก สถาบันจุฬาภรฯ การตีความจากตำแหน่งบริหาร เช่น งบสภากาชาดไทยที่มีสมเด็จพระเทพฯเป็นประธาน การตีความจากการอุปถัมภ์ เช่น งบโอลิมปิกวิชาการ มูลนิธิศึกษาทางไกลฯ งบในหน้างบส่วนพระองค์จึงน่าจะคลาดเคลื่อนกับความเป็นจริงถึง 19,000 ล้านบาท

2. งบเพื่อให้สถาบันดำรงอยู่

ในส่วนงบเพื่อให้สถาบันคงอยู่ มีการนำงบจากหน้าแรกมาใส่ซ้ำและมีการใส่ตัวเลขซ้ำซ้อน มีการนำเปอร์เซ็นต์มารวมเป็นจำนวนเงิน มีการตีความโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องเลยกับสถาบันกษัตริย์ เช่น งบชลประทานต่างๆที่ไม่ได้เป็นโครงการที่เกี่ยวข้อง งบฝนหลวงที่เป็นวิธีการสนับสนุนการเกษตรอีกแบบ และการเข้าใจว่าแก้มลิง (retention pond) เป็นโครงการโดยกษัตริย์ทั้งหมด แต่ในความจริงแล้วเป็นการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทั่วๆไปของการทำเกษตรกรรมอยู่แล้ว

มีการดึงตัวเลขที่เหมารวมทั้งก้อนแม้ว่าจะมีโครงการเกี่ยวข้องเพียงเล็กน้อยในนั้น และเป็นไปได้ว่าหากมีคำว่ากษัตริย์อยู่ในชื่อ กลุ่มทะลุวังจะนำมารวมโดยไม่พิจารณา เช่น ประโยค ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ก็นำมารวม และในส่วน จิตอาสา พระราชดำริ เงินกู้โควิด เป็นส่วนที่ไม่สามารถหาต้นทางได้เลยซึ่งอาจจะซ้ำกับส่วน โครงการพระราชดำริ รวมไปถึง จิตอาสา ที่ความจริงแล้วไม่เกี่ยวข้องกับ จิตอาสาฯ 904 ทั้งหมดนั้น งบในหน้าสองจึงน่าจะคลาดเคลื่อนกับความเป็นจริงถึง 35,000 ล้านบาท

ผลสรุป

สรุปแล้วเมื่อรวมทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน งบประมาณที่ได้สำรวจจากตารางนั้นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไปประมาณ 55,000 ล้านบาท เหลือที่เป็นไปได้อยู่ที่ 40,000 ล้านบาทเท่านั้นซึ่งยังเป็นตัวเลขที่สมเหตุสมผลใกล้เคียงกับงบที่ประชาไทสำรวจไว้ แต่ความสับสนอีกเรื่องคือเมื่อเข้าไปตรวจสอบเอกสารในลิงค์ดังกล่าวในวันนี้ (8 เมษายน 2565) https://drive.google.com/drive/folders/1fGGeg2E2G3Sss4ulanJDOmXTseU5rm-G?fbclid=IwAR3J0kqgIKgAeQ8GJqS4cnnD501soyChCSBLib_nwqfqk2wMbjvsSH17O5s กลับไม่พบเอกสารที่เห็นในวันแรก (4 เมษายน 2565) แต่เป็นตารางที่มีข้อมูลเพียงน้อยนิด

การเคลื่อนไหวเรียกร้องภาคประชาชนเป็นสิ่งที่ดี แต่ข้อมูลต่างๆควรจะนำมาถกเถียงกันให้มากขึ้น ซึ่งไม่ว่าข้อมูลจะดูน่าสงสัยอย่างไรหากประชาชนมีส่วนร่วมกันแบบที่สังคมที่ก้าวหน้าทำกันเป็นปกติแล้วนั้นโดยที่ไม่ต้องกล่าวหาอีกฝ่ายด้วยอารมณ์อย่างเดียว นั่นน่าจะทำให้การขับเคลื่อนทรงพลังมากขึ้น ไม่ว่าข้อมูลมาจากกลุ่มไหนหรือจากใครประชาชนควรตั้งคำถามก่อนเสมอ และนี่คือรากฐานของสังคมที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านจากยุคที่ต้องเชื่อทุกอย่างที่มาจากฝ่าย “เรา” ไปสู่ยุคที่จะมองทุกคนเป็นปัจเจก

เมื่อประชาชนใช้ความคิดแบบปัจเจกชนในการพูดคุย จะไม่มีฝ่ายเรา ฝ่ายเขา นี่คือกุญแจไปสู่การปฎิรูป คือมองคนให้เท่ากัน เช่นเดียวกับที่ผมไม่เห็นด้วยกับข้อมูลของกลุ่มทะลุวัง รอยัลลิสต์ก็ควรจะกล้าออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการดำเนินคดีมาตรา 112 และการคุกคามจากรัฐเช่นกัน เช่น อานันท์ ปันยารชุน ที่ออกมาพูดต้นเดือนมีนาคมว่าสนับสนุนในการแก้มาตรา 112

อ้างอิง

‘ทะลุวัง’ ทำสำรวจขบวนเสด็จทำให้เดือดร้อนหรือไม่ โดนตำรวจขวางไปตลอดทาง 2022-02-08

เปิดงบเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ปี 65 รายละเอียดตามเอกสาร ร่างพ.ร.บ.งบฯ พบราว 3.57 หมื่นล้าน

พรรคก้าวไกล. 2564. ทำไมงบฯ สถาบันพระมหากษัตริย์จึงต้องปฏิรูป? 

เปิดงบประมาณปี 2563 ส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.9 หมื่นล้านบาท