ความยุติธรรมของความแค้น

จาก Joel, Ellie และ Reiner ถึง Abby, Eren และ Gabi

ถ้าใครเนิร์ดหน่อย น่าจะรู้ว่า ผมพูดถึงเกม The Last of Us part II และ มังงะ Attack on Titan

ดังนั้นก็ขอเตือนว่า โพสท์นี้จะมีการ spoil กันเล็กน้อย

ถ้าไม่ซีเรียส หรือไม่ได้สนใจอยู่แล้ว ก็สามารถเลื่อนไปข้างล่าง ตรงพาร์ทประเด็นเลยก็ได้

.

.

ก่อนอื่นขอเริ่มจากการเล่าเรื่อง ปูพื้นของ reference ที่ถูกยกมาก่อน

ในปีที่ผ่านมาวงการเกมเมอร์มีดราม่าที่ถือเป็น movement ระดับโลกอยู่ ซึ่งก็คือ ความคิดเห็นที่มีต่อเกม The Last of Us part II ซึ่งมีทั้งชอบมาก และเกลียดมาก เป็นเกมระดับ AAA ที่สามารถสร้างปรากฎการณ์ที่แบ่งผู้เล่นออกเป็นสองฝ่ายได้ในระดับที่ใหญ่มากๆ ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่ค่อยจะเกิดขึ้นนัก

ส่วนใหญ่เกมระดับนี้ ถ้าคนไม่ชอบมากๆ ไปเลย ก็รุมประณามกันมากๆ ไปเลย

ถ้าใครที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารวงการเกม ก็จะเล่าให้ฟังแบบนี้

.

ต้องย้อนกลับไปในช่วงปี 2013

ค่ายเกมใหญ่ Naughty Dog ซึ่งเป็นค่ายเกมที่ทำเกมแนว action adventure ที่คลาสสิกอย่าง Crash Bandicoot และทำ series ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก อย่างซีรี่ส์ Uncharted ได้ออกเกมที่คล้าย Uncharted มาอีกเกม แต่ถือว่า อยู่ในอีก genre หนึ่ง ซึ่งก็คือเกม The Last of Us นั่นเอง

ขออธิบายจักรวาลของ The Last of Us คร่าวๆ ว่า มันคือ เกมแนว action adventure ที่ตัวเอกต้องเอาชีวิตรอดในโลก post-zombie apocalypse ที่นอกจากจะต้องเอาตัวรอดจากซอมบี้ในโลกที่ล่มสลายแล้ว ก็ยังต้องมีดราม่า ปะทะกับผู้มีชีวิตรอดกลุ่มอื่นๆ

มันคือ Walking Dead นี่แหละ ถ้าใครได้ดูซีรี่ส์

แต่ความแตกต่างของมันคือ ซอมบี้ในจักรวาลนี้ มีต้นกำเนิดมาจากการเอาเชื้อซอมบี้ที่มีอยู่จริงในโลก มาปรับให้ติดเชื้อกับมนุษย์

ใน The Last of Us ซอมบี้เกิดจากการที่มนุษย์ติดเชื้อ เชื้อราประเภทหนึ่ง ชื่อว่า Cordyceps ซึ่งในโลกเรามันเป็นเชื้อราที่จะติดกับหนอนแมลงต่างๆ และเมื่อแมลงตายมันก็จะงอกออกมาจากแมลง และสุดท้ายก็จะปล่อยสปอร์ออกมาเพื่อสืบพันธุ์ และติดเชื้อในแมลงอื่นๆต่อไป

ตรงนี้ขอแทรกว่า มันคือ สิ่งที่เรารู้จักกันในชื่อว่า ‘ถังเช่า’ นี่แหละ

เพราะงั้นใครไม่รู้ว่า ถังเช่า คือ อะไร ก็รู้ไว้ซะ ว่า มันคือ เชื้อราที่ติดเชื้อและงอกจากแมลง

คือ จะบอกว่า มันเป็นเชื้อราแล้วกินไม่ได้ ก็ไม่ถูกซะทีเดียว เพราะเห็ดมันก็คือ เชื้อราเหมือนกัน ก็กินกันได้ตามปกติ

เพราะงั้นก็ใช้วิจารญาณในการกินก็แล้วกัน

.

กลับมาสู่เรื่องเกม

ไอ้เชื้อรา Cordyceps ที่เคยติดแต่แมลง อยู่ๆวันหนึ่ง มันดันเกิดติดมนุษย์ขึ้นมา และเปลี่ยนมนุษย์ให้เป็นซอมบี้

การติดต่อเชื้อซอมบี้ ก็มี 2 ทาง หลักๆ คือ หนึ่ง โดนกัด กับ สอง สูดสปอร์เข้าปอด

แล้วซอมบี้ในเกม ก็มีการวิวัฒนาการเป็น stage ต่างๆ ที่แตกต่างกัน มี characteristic ที่ต่างกัน และมีความสามารถในการแพร่เชื้อที่ต่างกัน

.

ทีนี้เนื้อเรื่องโดยย่อของตัวเกมคือ

ลุงแก่โจล (Joel) ผู้เสียลูกสาวไปในช่วงต้นที่เกิด apocalypse ได้จับพลัดจับผลู ต้องมาดูแลเด็กสาวที่ชื่อ เอลลี่ (Ellie) ต้องนำเอลลี่ไปส่งให้กับองค์กรที่ชื่อว่า Firefly ซึ่งเป็นองค์กรที่พยายามหายารักษาเพื่อสร้างวัคซีนรักษาการติดเชื้อ Cordyceps

โดยเอลลี่ เป็นเด็กสาวที่มีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อ ดังนั้นถ้าหากสกัด anti-body จากเอลลี่ได้ ก็จะทำใหมนุษยชาติมีความหวังจากการฟื้นฟูจากการติดเชื้อ แต่ปัญหาคือ โจลดันมารู้ในช่วงสุดท้ายว่า การสกัด anti-body จากเอลลี่ จะทำให้เอลลี่ต้องตาย

สุดท้ายโจลยอมรับไม่ได้ที่เอลลี่ต้องตาย เพราะในเกมมีการเดินทาง ฝ่าฟันอันตรายด้วยกันมามาก จนทำให้ผู้เล่นเอง ก็รู้สึกผูกพันกับทั้งสองตัวละคร และตัวละครก็ผูกพันกัน จนแทบจะเป็นความสัมพันธ์แบบพ่อ-ลูก

โจลจึงตัดสินใจ พาเอลลี่หนี โดยในระหว่างนั้น ก็แทบจะฆ่าทุกคนที่ขวางหน้า พร้อมกับฆ่าหมอคนหนึ่ง ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นความหวังของมนุษยชาติ ว่า สามารถที่จะสกัด anti-body จากเอลลี่ได้

จบภาคแรกตรงนี้

.

พอภาค 2

เป็นเนื้อเรื่องหลังจากภาคแรกประมาณ 5 ปี

ขอสรุปเรื่องย่อหลักๆว่า แอ๊บบี้ (Abby) หญิงสาวที่อาจจะไม่สาวนัก เพราะมีร่างกายที่ถูกฝึกฝนมาอย่างดี มาตามล่าหาโจล และสุดท้ายก็ฆ่าโจลอย่างเลือดเย็น ฉากการฆ่าโจล สำหรับผม ถือเป็นฉากที่ iconic มาก และเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้วงการเกม เป็นฉากที่ค่อนข้างโหด และทำร้ายจิตใจผู้เล่น ที่ผูกพันกับโจลและเอลลี่อย่างมากกกกกกกกกก

แล้วเรื่องราวก็เริ่มขึ้น เมื่อเอลลี่ตัดสินใจออกตามล่าแอ๊บบี้ เพื่อล้างแค้นให้โจล

ระหว่างทางก็ได้พบกับเพื่อนๆ ของแอบบี้ และก็จัดการฆ่าเพื่อนแอบบี้ไปจนหมด จนในที่สุดก็มาเจอกับแอ๊บบี้จนได้

.

ความโหดของเกมคือ ณ จุดที่ทั้งสองปะทะกัน

เกมตัดภาพมาแล้วให้ผู้เล่น เล่นเป็น แอ๊บบี้…..

ในมุมมองของผู้เล่น แอ๊บบี้คือ คนที่ฆ่าโจลอย่างโหดร้าย และยิ่งลามไปถึงรูปลักษณ์ของแอ๊บบี้ ที่ไม่ใช่ผู้หญิงที่แบบ stereotype แต่เป็นผู้หญิงที่มีลักษณะแบบทหาร

ทำให้ทุกคนที่ผูกพันกับโจลและเอลลี่ ต่างเกลียดแอบบี้กันหมด แต่อยู่ๆ เกมก็บังคับให้เราเล่นเป็นแอบบี้ และเรียนรู้เรื่องราวชีวิตของแอบบี้ว่า ใช้ชีวิตอย่างไร เกิดอะไรขึ้น และที่สำคัญก็คือ ทำไมถึงแค้นโจลขนาดนั้น ถึงต้องทรมานและฆ่าโจลอย่างทารุณ

สรุปว่า แอบบี้ เป็นลูกสาวของหมอที่โจลเคยฆ่า ตอนที่พยายามพาเอลลี่หนีจาก Firefly

โจลเป็นผู้ที่ทำลาย Firefly ทั้งองค์กร ฆ่าคนจำนวนมาก เพื่อช่วยชีวิต เอลลี่ คนเดียว

ทำให้แอ๊บบี้แค้นโจลมาก ที่ทำลายทั้งคนที่รัก ครอบครัว และบ้านของเธอ

.

ผมจะไม่เล่าถึงตอนจบของเกม เพราะแค่อยากปูให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของตัวละครสำคัญ

.

.

กลับมาที่มังงะอีกเรื่องหนึ่งคือ Attack on Titan

สปอยส์เหมือนเดิมนะ

.

Attack on Titan เป็นเรื่องราวของการฆ่าฟัน การทารุณ ทรมาทรกรรมที่มี cycle นับพันปี

เผ่าเอลเดีย ครอบครองพลังไททัน และใช้พลังรุกรานมนุษย์เผ่าอื่นๆ สร้างประวัติศาสตร์เลือด

จนวันหนึ่งกษัตริย์ฟริตซ์ รู้สึกสำนึกผิดในประวัติศาสตร์ดำมืดของตระกูลตัวเอง จึงสร้างกำแพงไททัน และขังเผ่าพันธุ์ของตัวเองไว้บนเกาะพาราดี ไม่ให้ออกไปรุกรานเผ่าพันธุ์อื่น

แต่จากประวัติศาสตร์เลือด ความแค้นก็ยังคงฝังแน่นอยู่ภายในประวัติศาสตร์โลก

ทำให้ทั้งโลกมองชาวเอลเดียว่า เป็นปีศาจแม้จะผ่านไปนานเป็นร้อยๆปีก็ตาม

.

เรื่องราวในเรื่องเริ่มต้นขึ้นเมื่อไรเนอร์ (Reiner) พร้อมกับเพื่อนทหารอีกสองคน แปลงร่างเป็นไททันขนาดยักษ์ทำลายกำแพงที่ล้อมรอบเมืองของชาวเอลเดียบนเกาะพาราดี ทำให้ไททันตัวอื่นๆ เข้ามาทำลายเมือง และฆ่าคนไปมหาศาล

แม่ของเอเรนถูกไททันกินไปตั้งแต่วันนั้น และหลังจากนั้นก็สร้างปมในใจให้กับเอเรนมาตลอด

จนในที่สุดเรื่องราวก็มาถึงจุดที่เอเรน ตัดสินใจต่อสู้กับโลกด้วยพลังไททันที่ตัวเองมี

เอเรนตั้งใจที่จะทำลายโลก ด้วยเหตุผลว่า โลกอยากจะทำลายชาวเอลเดียบนเกาะให้สิ้นซาก

.

ในระหว่างนั้นกาบิ เด็กทหารฝึกหัก ที่มุ่งหวังจะเป็น war hero ตั้งใจจะฆ่า ‘ปีศาจ’ บนเกาะ แต่เมื่อเอเรนที่มาจากเกาะบุกทำลายเมือง ก็สูญเสียเพื่อน สูญเสียคนใกล้ชิด กลายเป็นความแค้นกันทอดต่อทอด

จากการบุกเกาะของไรเนอร์ ก็สร้างความแค้นให้กับเอเรน

และจากการบุกเมืองของเอเรน ก็สร้างความแค้นให้กับกาบิ

.

.

.

ประเด็นเริ่มตรงนี้

ประเด็นนี้ไม่ใหม่เลย เป็นหนึ่งในประเด็นที่เก่าแก่ มีการสำรวจและพูดคุยกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ

การตอบโต้ความรุนแรงด้วยความรุนแรง

วัฎจักรของการแก้แค้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ มันเป็นความยุติธรรมแบบหนึ่งหรือไม่

และเราสามารถใช้ความเจ็บช้ำ ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น มา justify การล้างแค้น หรือความรุนแรงของเราได้หรือไม่?

.

ประเด็นของความแค้นและการแก้แค้นนั้น เป็นหนึ่งในประเด็นพื้นฐานที่สุดประเด็นหนึ่ง

ความแค้นเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรง เราอยากทำร้ายคนที่ทำให้เราเจ็บ คนที่ทำผิดกับเราต้องชดใช้

เราอยากให้คนที่ทำร้ายเรา เจ็บแบบเดียวกันกับที่เราเจ็บ หรือเจ็บมากกว่า

ผมจะไม่บอกว่า ความรู้สึกเหล่านี้ เป็นสิ่งผิด หรือสิ่งชั่วร้าย

กลับกัน ผมมองว่า สิ่งเหล่านี้มันสมเหตุสมผลและเป็นหนึ่งในความเป็นมนุษย์เช่นกัน

ระบบยุติธรรมที่เราพยายามจะสร้างกันอยู่ ก็พัฒนาจากไอเดียของการแก้แค้น

แต่เป็นการแก้แค้นที่มอบอำนาจให้รัฐ หรืออำนาจที่มีความเป็นกลาง เป็นผู้กระทำแทน

เพราะการแก้แค้นด้วยความแค้นส่วนตัว มันไม่อาจมีมาตรวัดได้ว่า มากแค่ไหน ระดับไหนถึงสาสมกับความผิด

ขโมยของต้องตัดมือ ฆ่าคนต้องโทษประหาร หรือ ไม่เชื่อในพระเจ้าต้องถูกเผา

บางสิ่งบางอย่างมันไม่ใช่ความผิด คนเราก็สามารถอ้างให้กลายเป็นความผิดได้

ดังนั้นกฎหมายกลาง ระบบยุติธรรมของสังคมสมัยใหม่ จึงทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง กำหนดโทษที่เป็นธรรมสำหรับทุกคน

ถ้าคุณทำผิดในลักษณะนี้ ไม่ว่า ใครก็ต้องโดนลงโทษในขอบเขตของโทษที่ใกล้เคียงกัน

นั่นคือ ไอเดียของระบบยุติธรรม

.

แต่ความแค้นบางเรื่อง ก็ไม่ได้ตรงไปตรงมา

การกระทำของมนุษย์มันมี consequence ต่อเนื่อง และการกระทำบางอย่างมันก็กระทบ และสร้างคลื่นก่อให้เกิด consequence ที่ต่อเนื่องกันจนกลายเป็นอะไรที่เกินกว่าการลงโทษคนๆเดียวจะสิ้นสุดลง

.

เราอาจจะเคยคิดเรื่องคำถาม dilemma บื้อๆ อย่าง ถ้าคนรักกับพ่อแม่กำลังจะตาย จะเลือกช่วยใครก่อน?

คำถามนี้ ถึงที่สุดแล้ว คือ เราเลือกจะ value อะไรมากกว่า

บางทีชีวิตเราก็บีบให้เราเลือก hard choice บีบให้เราต้องเลือกตัวเลือกที่ต้องชั่งน้ำหนักสิ่งที่มีค่าในชีวิตเรา

แล้วถ้าโลกบีบให้เราต้องเลือก ระหว่างช่วยโลก กับช่วยคนที่เรารักที่สุด

เราจะเลือกอะไร?

.

หนังหลายเรื่อง

เกมหลายเกม

ก็เล่นกับ dilemma นี้

ว่า ศีลธรรมต่อโลกของคุณจะสูงส่งขนาดไหน สูงขนาดที่จะทิ้งสิ่งที่มีค่าที่สุด เพื่อโลก หรือ เพื่อมนุษยชาติในองค์รวมได้ไหม?

ในแง่นี้โจล ที่เลือกช่วยเอลลี่ ก็แค่เลือกช่วยคนที่ตัวเองรัก และทอดทิ้งโลก

ถ้าคุณเคยเล่นเกม Life is Strange  คุณก็ต้องเลือกระหว่างชีวิตของโคลอี้ (Chloe) กับเมืองและคนทุกคนภายในเมือง

ในชีวิตจริง อาจจะเป็นการที่คุณจะต้องปิดบริษัท ช่วยชีวิตครอบครัวตัวเองจากภาวะหนี้ แล้วต้องทอดทิ้งลูกจ้างจำนวนมากให้ตกงาน หรือ คุณอาจจะเป็นกษัติรย์ที่ไม่ว่าอย่างไรก็จะต้องสืบทอดราชวงศ์ต่อไปให้ได้ และต้อง maintain อำนาจให้นานที่สุด และมั่นคงที่สุด ในภาวะที่ประชาชนกำลังเกลียดชังคุณเข้ากระดูกดำ

เมื่อถึงตอนนั้น คุณจำเป็นต้องเลือก ระหว่างคนใกล้ตัว และคนอื่น ซึ่งคนอื่นนั้นจะหลักสิบ หลักพัน หรือเป็นแสนเป็นล้าน มันก็ไม่สำคัญหรอก เพราะสิ่งที่สำคัญกว่า ก็คือ คนรอบข้างที่คุณรัก

และใน process นั้น ที่พยายามรักษาผลประโยชน์ หรือช่วยเหลือคนรอบข้าง มันย่อมสร้าง consequence ที่รุนแรง และกระทบต่อคนอื่นไปพร้อมกัน และบางครั้งผลกระทบเหล่านั้นมันก็รุนแรงถึงขนาดที่สร้างความแค้นได้

อย่างการที่โจล ฆ่าหมอซึ่งเป็นพ่อของแอบบี้ ก็เป็นเหตุผลที่รุนแรงมากพอที่จะทำให้แอบบี้แค้นโจลถึงขนาดอยากทรมานก่อนจะฆ่า

เพียงแต่ผู้เล่น ผูกพันกับโจลมากกว่าแอบบี้ จึงรู้สึกเกลียดแอบบี้ที่ล้างแค้นให้กับความแค้นตัวเอง

ในแง่นี้ผู้เล่น ก็เลือกที่จะชั่งน้ำหนักความผูกพัน และความรักที่มีต่อโจล เพื่อมองข้ามอาชญากรรมที่โจลสร้าง และเลือกที่จะเกลียดชังแอบบี้ และอยากให้แอบบี้ตาย ในมุมนี้ผู้เล่น merge ความรู้สึกร่วมไปกับเอลลี่ ที่แค้นและจงเกลียดจงชังต่อแอบบี้ และเชื่อว่า ตัวเองเป็นฝ่ายถูกกระทำ และมีสิทธิ์ที่จะล้างแค้น

แต่ในขณะเดียวกัน ตัวผู้เล่น หรือ เอลลี่ ก็ไม่ได้ต่างจากแอบบี้เลย ทุกคนมีเหตุจูงใจ และถูกกระทำมากพอที่จะสนับสนุนความแค้นของตัวเอง

.

.

เมื่อขยาย scale ความแค้นนี้

หากความแค้นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของเรา แต่มันเป็นอาชญากรรมที่ส่งผ่านมาตามยุคสมัย เป็นความแค้นที่ถูกฝังลงมาตามประวัติศาสตร์

Attack on Titan เล่นประเด็นนี้

ประเด็นที่มีกษัตริย์ที่ไขว่คว้าหาอำนาจ ใช้พลังที่ตัวเองสามารถหาได้ เพื่อใช้รุกรานผู้อื่น เพื่อประโยชน์ตัวเอง

แล้วการรุกรานนั้นก็สร้างความแค้นให้กับผู้สูญเสีย กลายเป็นความแค้นที่ตกทอดมา และยากที่จะลบ

ในขณะเดียวกัน เมื่อมีผู้สูญเสีย ก็ย่อมมีผู้ได้รับประโยชน์จากประวัติศาสตร์นั้นเช่นกัน

.

ไม่ว่าจะไรเนอร์ หรือ เอเรน หรือ กาบิเอง ก็เป็นผู้ที่รับช่วงต่อความหนักหนา ความแค้นของประวัติศาสตร์ และนำสิ่งเหล่านั้นมา justify ความเชื่อของตัวเอง ให้การก่ออาชญากรรมของตัวเองเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

เป้าหมายของแต่ละคนคือ “การฆ่าและทำลายปีศาจ” เพื่อรักษาความสงบสุขของโลก เพราะเชื่อว่า ปีศาจคือ ต้นเหตุของความชั่วร้าย ความกลัว และความแค้นทั้งปวง

ในแง่นี้ คนที่น่ากลัวที่สุด ไม่ใช่ใครอื่น นอกจากเอเรน

ในขณะที่ไรเนอร์ และกาบิ เมื่อได้จับพลัดจับผลู ต้องมาอยู่ร่วมกับศัตรูที่ตัวเองเกลียด ก็ได้พบความจริงว่า ปีศาจที่ตัวเองเชื่อมาตลอด เป็นเพียงผีแห่งความแค้น เป็นเพียงผีแห่งความกลัวที่ระบายทับลงบนคนธรรมดาทั่วไป ที่มีชีวิตจิตใจไม่ต่างจากตัวเอง

ทั้งสองคนที่อาจจะเคยก่ออาชญากรรมมาก่อน กลับรู้สึกเสียใจ สำนึกในสิ่งที่ตัวเองทำ และพยายามหาทางชดใช้ความผิดที่ตัวเองเคยทำ แม้เวลาจะผิดไปนานแค่ไหน ความรู้สึกผิดก็ไม่ลบเลือน

เอเรนก็ไม่ต่างกันมากนัก สิ่งที่ต่างกันมีจุดเดียวคือ เอเรน ได้เจอกับศัตรู ได้เห็นโฉมหน้าที่แท้จริงของสิ่งที่เรียกว่า “ศัตรู” ก่อนที่จะลงมือก่ออาชญากรรม

เอเรนได้เห็นว่า ศัตรูคือ มนุษย์ธรรมดาทั่วไป เป็นมนุษย์ที่มีทั้งดี และเลว ที่ไม่ต่างจากตนเอง

แต่เอเรน ได้ตัดสินใจที่จะปกป้องเผ่าพันธุ์ตัวเอง ปกป้องเมือง ปกป้องพวกพ้อง และเลือกที่จะทำลายสังคมโลกที่เป็นภัยให้ราบคาบ

ในขณะที่ไรเนอร์กับกาบิ เป็น ignorant ขณะก่ออาชญากรรม

แต่เอเรน คือ ผู้ที่ก่ออาชญากรรมด้วยความตั้งใจ

.

ในชีวิตจริง

ความแค้นเหล่านี้ถูกฝังอยู่ในประวัติศาสตร์

การเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ racism

การเหยียดเพศ

ความเกลียดชังระหว่างสงครามโลก

ความขัดแย้งระหว่างชนพื้นเมือง กับคนขาวผู้นำเข้า colonization

ความขัดแย้งไทยรบพม่า

ในขณะที่สังคมโลก สังคมสมัยใหม่เริ่มสำนึกผิดว่า ประวัติศาสตร์การก่อสงครามที่ตัวเองเคยทำ ไม่ว่าจะเป็นการ colonization หรือการก่อสงครามต่างๆ เป็นอาชญากรรมระดับโลก และไม่ควรภาคภูมิยินดีกับมัน

แต่เป็นสิ่งที่ควรสำนึกผิด และไถ่โทษต่อผู้สูญเสีย

แต่หนังสือเรียน หรือความเชื่อของสังคมไทย ยังคงยึดมั่นกับความขัดแย้งเมื่อหลายร้อยปีก่อน แล้วขยายมันขึ้นมาให้กลายเป็น narrative ที่ใช้สร้างศัตรูร่วม เป็นความขัดแย้งที่หยิบมาจากประวัติศาสตร์แต่ทาบทับใส่สังคมปัจจุบัน

การเกลียดชัง หรือการดูหมิ่นประเทศเพื่อนบ้าน ถูกเขียนผ่านประวัติศาสตร์ และกลายเป็นค่านิยมของสังคม

ในขณะที่สร้างให้ผู้คนเจ็บแค้น เสียใจในยามที่เราเสียกรุง สร้างความเกลียดชังให้แก่คนรุ่นใหม่

แต่ในขณะเดียวกัน ประวัติศาสตร์ก็เขียนว่า การที่กษัตริย์ไทยไปรบ ฆ่าฟัน กดขี่เมืองรอบข้าง เป็นการ ‘ขยายอำนาจและความยิ่งใหญ่’ ที่คนไทยควรภูมิใจว่า มีกษัตริย์ที่เก่งกาจ มากความสามารถในการฆ่าคน และกดขี่คนอื่น

.

มันคือ การเลือกใส่ attitude ให้กับประวัติศาสตร์

ในมุมที่เราเสียประโยชน์ เราคือ เหยื่อ ที่มีสิทธิ์เจ็บแค้น โกรธเคือง

แต่ในมุมที่เราได้ประโยชน์ เราคือ ผู้เก่งกล้าสามารถ มีบุญบารมี ที่คนอื่นต้องสยบยอม และเกรงกลัว

แต่เราไม่เคยคำนึงถึงว่า ในยามที่เราได้ประโยชน์ ก็ทำให้ผู้อื่นต้องเสียประโยชน์เช่นกัน

มันเป็นมุมมองที่ self-center สุดๆ

.

.

ความแค้น ความเกลียดชังเหล่านี้ในมุมหนึ่งมันก็เคยเกิดขึ้นจริง

แต่คำถามที่น่าสนใจคือ ลูกหลานของผู้กดขี่ ที่ได้รับประโยชน์จากการกระทำของคนรุ่นก่อน ต้องมีส่วนรับผิดชอบ หรือแบกรับความผิดจากอาชญากรรมที่คนรุ่นก่อนก่อขึ้นไว้หรือเปล่า?

คำถามนี้ สำหรับผมเป็นคำถามที่ตอบยากมาก หากเราตอบว่า มีส่วนรับผิดชอบ หรือไม่มีส่วนรับผิดชอบก็ตาม

เราจะสามารถ apply มาตรฐานนี้ให้กับทุกกรณีได้หรือไม่ แล้วถ้าไม่ได้ จะใช้เหตุผลอื่นอะไรมาขีดเส้นว่า บริบทนี้ต้องรับผิดชอบ และอีกบริบทหนึ่งไม่ต้อง

.

และหากสมมติว่า ต้องมีส่วนรับผิดชอบ จะต้องรับผิดชอบมากแค่ไหน ถึงจะเพียงพอ

.

ยกตัวอย่าง 2 บริบท

ถ้าปู่ของเรา เป็นอาชญากร เคยฆ่าคนมา

เราที่เป็นรุ่นหลาน ต้องมีส่วนรับผิดชอบกับอาชญากรรมนั้นหรือไม่ อย่างไร?

และสมมติว่า ในมุมที่เราเป็นเหยื่อ

มีคนๆหนึ่งที่เคยยักยอกทรัพย์จากเรา จนเราต้องอยู่อย่างลำบาก เมื่อคดีความสิ้นสุด คนนั้นหนีหายไป และเราไม่สามารถติดตามได้ แต่เราสามารถติดตามลูกเขา และครอบครัวเขาได้

ครอบครัวเขา หรือ ลูกเขา ควรมีส่วนรับผิดชอบกับอาชญากรรมที่พ่อเขาก่อหรือไม่

ลูกเขาต้องชดใช้ให้เราหรือไม่? แล้วต้องชดใช้เท่าไหร่ อย่างไร?

.

ถ้าเราพิจารณาสิ่งเหล่านี้ในแง่ของศีลธรรม

เราจะขีดเส้นอย่างไร ตัดสินอย่างไร? แล้วเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม?

.

ดังนั้น เมื่อสังคมมันใหญ่ขึ้น กรณีพิพาทเหล่านี้ก็เพิ่มขึ้น และซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ

กระบวนการยุติธรรมกลาง จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็น

เราจำเป็นจะต้องอิงอยู่บนกติกากลาง ที่เรียกว่ากฎหมาย

กระบวนการยุติธรรม ที่เป็นกลางพอ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดในการจัดการข้อพิพาท เมื่อความยุติธรรมกลางเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และเมื่อคนไม่ยอมรับ

เมื่อนั้นการตอบโต้ การล้างแค้น ด้วยมาตรฐานของตัวเองก็จะปะทุขึ้นมา และไม่อาจยับยั้งได้

.

ในแง่ของศีลธรรม จริยธรรม การอ้างเหตุผล การขีดระดับขั้นของการล้างแค้นนั้นเป็นเรื่องที่เลื่อนไหล

แต่ในแง่กฎหมาย มันต้องมีขอบเขตที่ชัดเจน และเป็นธรรม มิฉะนั้นคนก็จะไม่ยอมรับกติกา

ดังเช่น การฉีกกติกา การฉีกกฎหมายด้วยอำนาจ เช่น การรัฐประหาร หรือ การใช้อำนาจตุลาการเป็นเนติบริกร

หรือแม้แต่การใช้กฎหมายเป็นอาวุธ ดังเช่น 112

.

เมื่อสิ่งเหล่านี้พังลง และไม่เป็นธรรม

มันก็นำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น เพราะผู้คนไม่สามารถยอมรับความอยุติธรรมที่มีต่อตัวเองได้

เราอาจจะยอมรับความอยุติธรรมที่มีต่อคนอื่นได้

แต่เราจะเจ็บแค้น และสั่งสมความแค้นต่อความอยุติธรรมที่มีต่อตัวเองได้เสมอ

จากนั้นเมื่อมันปะทุขึ้นมา เป้าหมายของความแค้นนั้น อาจจะไม่ได้จำกัดเฉพาะกับผู้ที่ทำร้ายเรา แต่มันอาจจะลุกลามไปถึงคนอื่นๆที่ไม่มีส่วนรู้เห็น หรือ แค่ได้รับผลประโยชน์เป็นผลพลอยได้ โดยไม่ได้ร่วมทำกรรมนั้นต่อเรา

จากนั้นความโกรธ ความเกลียด มันก็จะกลายเป็น consequence ที่ปะทุเป็นลูกโซ่

.

ผลลัพธ์ของสิ่งเหล่านั้น มันเกิดขึ้นในสังคมเรามาหลายต่อหลายครั้ง

การกราดยิงโคราช ก็เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่เป็นโศกนาฏกรรมในบริบทนี้เช่นกัน

.

จึงต้องขอแสดงความเสียใจต่อผู้สูญเสียมา ณ ที่นี้

และผู้สูญเสียนั้น ไม่ได้จำกัดแค่ผู้เสียชีวิตและครอบครัว แต่ยังรวมไปถึงครอบครัวของผู้ก่อเหตุ และสังคมโดยรวมของเราด้วย

ถ้าจะสืบเสาะหาสาเหตุ

ต้นตอก็คงไม่พ้น การกดขี่ ระบบชนชั้น และระบบอุปถัมภ์ ซึ่งควบรวมถึงระบอบกษัตริย์ ราชการ ทหาร และสังคมมาเฟียที่ฝังรากครอบครองสังคมของเราอยู่ในปัจจุบันนี่เอง