เส้นแบ่งระหว่างชีวิต และสิ้นชีวิต

This Ciliate is About to Die.

จากช่อง Youtube: Journey to the Microcosmos

นี่คือ คลิปที่พูดถึงความตายและชีวิตได้ scientific ที่สุด และ poetic ที่สุดคลิปหนึ่งเลย

แค่นั่งฟังก็ขนลุกไปทั้งตัว

.

ถ้าเราพูดถึง ความเป็น และ ความตาย ในบริบทที่แตกต่างกัน เราจะได้ definition ที่มันต่างกัน

ในโลกของ microorganism

มีการดำรงอยู่ อย่างเป็นวัฏจักร ในโลกนี้สิ่งมีชีวิตมี “ตัวตน” หรือไม่? มีสำนึกหรือไม่?

แล้วเราจะ define การเกิด การดำรงชีวิต หรือการตายได้อย่างไร

.

สิ่งที่จะเขียนต่อไปนี้

เขียนเพราะอยากจะพาคุณลองคิดถึงแง่มุมของ “ชีวิตมนุษย์ เทียบกับ “ชีวิต” ในแง่มุมอื่น และกลับมาพิจารณาชีวิตของตัวเองอีกที

.

ดังนั้นเราจะเริ่มจากการสำรวจแง่มุมของ “ชีวิตมนุษย์” กันก่อน

.

.

คำถามแรกคือ อะไรหนอ ที่ทำให้เรารู้สึกว่า เรามีชีวิต

เรารู้สึกตัวว่า เราเกิด เมื่อไหร่?

เรา “มีชีวิต” ตั้งแต่เมื่อไหร่ ตั้งแต่เราเกิดจากครรภ์หรือเปล่า?

หรือตั้งแต่เกิดการปฏิสนธิ แล้วเซลล์สืบพันธุ์ถือว่า เป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่?

นอกจากการมีชีวิตแล้ว “ตัวตน” ของเราคืออะไร? มันมีอยู่จริงหรือเปล่า แล้วมันเริ่มขึ้นเมื่อไหร่ สิ้นสุดเมื่อไหร่?

.

การมีชีวิตของมนุษย์นั้น แตกต่างกันในแต่ละบริบท

การมีชีวิตในแง่สังคม แตกต่างกับการเป็นมนุษย์ในเชิงกฎหมาย และแตกต่างกับการมีชีวิตในเชิงปรัชญา

และยิ่งกว่านั้น ถ้าเราวางมนุษย์ไว้ก่อน และมองการมีชีวิตในธรรมชาติ ในความเป็นจริง ด้วยแว่นทางวิทยาศาสตร์

ความหมายของชีวิตนั้น จะแตกต่างไปจากสิ่งที่เราคุ้นเคยโดยสิ้นเชิง

.

.

ในคลิปที่โพสท์ให้นี้

เรากำลังติดตามช่วงชีวิตสุดท้ายของ Ciliate เซลล์หนึ่ง

Ciliate คืออะไร ขอให้ไปอ่านต่อจากแหล่งความรู้เชิงชีววิทยา

ในคลิปนี้ถ่ายทอดชีวิตของ Ciliate ที่กำลังสูญเสียบางส่วนของ organism ไปที่ละนิดจนกระทั่งมันหยุดการเคลื่อนไหว

ในช่วงระยะเวลาที่มันยังเคลื่อนไหวได้ เราคงสามารถพูดได้ตรงกันว่า มันยังมีชีวิต

จนกระทั่งถึงจุดที่มันหยุดเคลื่อนไหวแล้ว เราก็คงตระหนักได้ว่า นั่นคือ ความตายของมัน

ในเชิง visual แล้ว เราเห็นว่า Ciliate ค่อยๆสูญเสียส่วนหนึ่งของมันออกไปเรื่อยๆ และส่วนที่มันหลุดออกไปนั้น ก็คือ ตาย

ดังนั้นแปลว่า ส่วนเล็กๆนั้นที่หลุดไปนั้น เคยเป็นส่วนหนึ่งของ “ชีวิต” มาก่อน จน ณ วินาทีที่หลุดออกไป จึงเป็นสิ่งที่ไร้ชีวิตแล้ว อย่างนั้นหรือ?

แล้วเมื่อมันถึงจุดสิ้นสุด ทุกๆส่วนใน organism หยุดการมีชีวิตพร้อมกันเลยหรือเปล่า?

อะไรที่เป็นเส้นแบ่งระหว่าง การมีชีวิต และความตาย?

.

ในคลิปอธิบาย “ชีวิต” และ “ความตาย” ด้วยแง่มุมทางวิทยาศาสตร์

สำหรับคนที่ฟังไม่ออก ผมขอสรุปคร่าวๆ ในแบบที่คงสวยงามเท่าที่เขาอธิบายในคลิปไม่ได้ แบบนี้

.

สิ่งมีชีวิตที่ถูกเรียกว่า Ciliate (ซึ่งเป็นแค่ชื่อเรียกรวมๆของมัน ไม่ได้เฉพาะเจาะจงถึงชนิด สายพันธุ์) มีลักษณะเป็นส่วนประกอบของโครงสร้าง organism ที่ทำงานร่วมกัน และบางส่วนของ organism นั้นกำลังหลุดออกไปทีละนิด

ซึ่งมันเป็นการรวมกันของกลุ่มก้อนโครงสร้างโมเลกุลที่ประกอบกันกลายเป็นสิ่งมีชีวิต

.

จุดน่าพิศวงแรกคือ โมเลกุลนั้นเป็นสิ่งไม่มีชีวิต แต่การรวมกลุ่มโครงสร้างของโมเลกุล ทำให้เกิดโครงสร้างที่สามารถกลายเป็นทั้งสิ่งมีชีวิต และไม่มีชีวิตก็ได้

ซึ่งหากเป็นโครงสร้างที่มีชีวิต มันถูกอธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์ว่า มันกำลังอยู่ห่างไกลจากจุด equilibrium

.

Equilibrium อาจแปลไทยได้ว่า ดุลยภาพ

หมายถึง ภาวะที่สมดุล

สมดุลของอะไร?

เป็นภาวะสมดุลของปฏิกิริยาทางเคมี เป็นภาวะที่จะไม่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมี ไม่มีการส่งผ่าน ถ่ายเทปฏิกิริยาทางเคมีในช่วงเวลาหนึ่งๆ

ภาวะที่เกิดขึ้นอยู่ภายนอกสิ่งมีชีวิต จึงมีอยู่ 2 สภาวะหยาบๆ คือ ถ้าไม่ใช่ภาวะที่อยู่อย่างมีดุลยภาพแล้ว ก็คือ ภาวะที่กำลังมุ่งเข้าสู่ดุลยภาพ

.

แต่สิ่งนี้จะไม่เกิดภายใน สิ่งมีชีวิต

ในแง่นี้จึงสามารถพอจะนิยามได้ว่า ชีวิตคือ กลุ่มก้อนของ organism ที่รับและใช้พลังงาน สร้างปฏิกิริยาทางเคมี เพื่อหนีห่างจากจุด equilibrium

“Life is a chemical system that uses energy to keep itself from reaching chemical equilibrium.”

.

เป็นคำอธิบายชีวิตที่สุดจะ scientific

สุดแห้ง มีแค่คำว่า energy กับ chemical reaction

เป็นการ simplify ชีวิตลงให้เหลือแค่ 2 อย่างนี้…พลังงาน กับ ปฏิกิริยาเคมี

ไม่มีจิต ไม่มีวิญญาณ ไม่มีสำนึก ไม่มีตัวตน ไม่มีความนึกคิด ไม่มีอะไรที่เป็นนามธรรมทั้งสิ้น

แต่ทำไมผมกลับรู้สึกว่า มันโคตรจะ poetic และมันช่างสวยงาม

.

ทำไมชีวิตถึงพยายามหนีห่างจากสภาวะดุลยภาพ

ไม่รู้เหมือนกัน….

แต่ชีวิตก็ทำสิ่งนั้นซ้ำไปซ้ำมามามากกว่าหลายพันล้านปี โมเลกุลได้ร่วมกันสร้างกลุ่มก้อนของ organism พัฒนา ขยายขนาดของกลุ่มก้อนนั้น และส่งต่อ สร้างกลุ่มต่อไป เปลี่ยนรูปแบบการสร้าง และก็เสื่อมสลายหลุดออกจาก organism กลุ่มเดิม และอาจจะถูกดึงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ organism กลุ่มใหม่ต่อไป

.

ถ้าที่กล่าวมา คือ “การมีชีวิต”

แล้ว “ความตาย” ล่ะ?

ความตาย คือ อะไร

เช่นเดียวกับ ความมีชีวิต

นิยามของความตายนั้นแตกต่างกันในบริบทต่างๆ

ความตายของสังคมมนุษย์ ต่างจากความตายทางกฎหมาย ต่างจากความตายเชิงปรัชญา และต่างจากความตายในแง่วิทยาศาสตร์

.

ในแง่วิทยาศาสตร์

ถ้าการมีชีวิตคือ การหนีห่างจาก equilibrium

ความตายไม่ใช่ การกลับเข้าสู่ equilibrium

เพราะหลังจากที่ตายแล้ว องค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตไม่ได้กลับเข้าสู่ equilibrium ทันทีทันใด แต่มันเป็นกระบวนการที่ใช้เวลา ค่อยๆเกิดปฏิกิริยา และเสื่อมสลาย

ดังนั้นความตายจึงเกิดขึ้นก่อนการกลับเข้าสู่ equilibrium นานมาก และกระบวนการที่นำไปสู่ความตายนั้น ย่อมเกิดขึ้นก่อนที่ความตายจะมาถึง

แม้กระบวนการที่นำไปสู่ความตายนั้น แทบจะเกิดขึ้นตลอดเวลา

แต่ในขณะเดียวกัน organism ที่ยังคงมีชีวิต ก็จะพยายามอย่างยิ่งยวด เพื่อแปรเปลี่ยนพลังงานให้สร้าง organism ใหม่ขึ้นมาทดแทน ส่วนที่เสื่อมสลายลง

organism บางส่วนที่หลุดไป สูญสลายไป นั่นคือ ความตาย

แต่ organism หลัก ยังคงมีชีวิตอยู่

.

แต่ความตายจริงๆ ของสิ่งมีชีวิตหนึ่งๆ เกิดเพียงครั้งเดียว

เกิดขึ้นใน moment หนึ่งๆ

“Death is the moment when the system that maintains the far from equilibrium state ceases existence.”

ในแง่มุมทางวิทยาศาสตร์นี้ ความตายคือ การสิ้นสุดกระบวนการการใช้พลังงานหนึ่งๆเท่านั้น ดังนั้นภายในร่างกายเรากระบวนการนี้จึงเกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมาในระดับ microorganism

จนกระทั่งถึงจุดที่ microorganism ในภาพรวมหยุดการทำงานทั้งระบบลงพร้อมๆกัน

.

ในคลิปเสนอว่า เราสามารถขยายเสกลของการมองกระบวนการนี้ไปได้อีกหลายระดับ

เช่น ถ้ากระบวนการหนีออกจาก equilibrium นี้ หยุดลงในสเกลที่กว้างขึ้นถึงขนาดระดับเผ่าพันธุ์ นั่นก็คือ ความตายชนิดหนึ่ง ซึ่งถูกเรียกว่า extinction เป็นการสูญพันธุ์

หรือ ถ้ากระบวนการนี้ ที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับโลกมานับพันล้านปี หยุดลง มันคือ การที่ชีวิตทุกชีวิตบนโลกหยุดลงในช่วงเวลาเดียวกัน

นั่นก็เป็นความตายอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ยิ่งใหญ่เหลือเกิน แต่มันไม่ใช่คำว่า สูญพันธุ์ด้วยซ้ำ มันเป็นมากกว่านั้นหลายล้านเท่า

.

และในที่สุด ทุกอย่างก็จะกลับคือ สู่ดุลยภาพ

ฟังดูแล้ว มันทำให้ความตายกลายเป็นสิ่งที่ไม่น่ากลัวอีกต่อไป เป็นสิ่งที่เราทุกคนกำลังเดินทางไปหามัน

เพียงแต่ระหว่างทางนั้น เราพยายามจะอยู่ให้ห่างมันที่สุดเท่าที่จะทำได้

และความตายไม่ใช่การกลับคืนสู่ดุลยภาพ

แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางกลับสู่ดุลยภาพ

.

.

และอีกครั้ง ที่ผมอยากจะชวนทุกคนมาคุย และสำรวจแง่มุมของ ชีวิต และความตายของเรา

กลับมาในบริบทของความเป็นมนุษย์

.

อะไรกันแน่

ที่ย้ำให้เรายังรู้สึกว่า เรายังมีชีวิตอยู่ ยังเป็นมนุษย์อยู่ หรือ ตัวเรายังคงเป็นตัวเราอยู่

ร่างกายของเรา ถือเป็นตัวเราหรือไม่?

การที่เซลล์ของเราตายลงไปทุกวัน และถูกสร้างใหม่ทุกๆวัน

การที่เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี เซลล์ทุกเซลล์ในร่างกาย จะไม่หลงเหลือเซลล์ชุดเดิมใน 10 ปีก่อนอีกเลย

ในระดับเซลล์แล้ว เรากลายเป็นตัวตนใหม่ไปแล้วใช่หรือไม่?

เป็นคนอื่นไปแล้วหรือเปล่า?

.

การที่เราผลัดเซลล์ แตกต่างกับการที่เราสูญเสียอวัยวะ

แม้เราสูญเสียอวัยวะไปแล้ว เราก็อาจจะยังคงเป็นตัวเราอยู่

.

แล้วเราต้องสูญเสียอะไรไปแค่ไหนล่ะ? ถึงจะไม่ใช่ตัวเราอีกต่อไป

หัวใจเหรอ? การที่เราผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ เรายังเป็นคนเดิมอยู่หรือไม่?

สมองเหรอ? สมองอาจจะเป็น core ที่สุดของมนุษย์หรือเปล่า?

แล้วถ้าสมองของเราเสียหาย และเราสูญเสียความทรงจำ จะยังถือว่า เราเป็นเรา หรือ เราเป็นคนอื่น?

.

ในแง่หนึ่ง ตัวตนในฐานะมนุษย์ และสัตว์ อาจจะนิยามได้ในเชิงปรัชญาว่า เป็นความต่อเนื่องของความทรงจำ

ตัวเราเป็นตัวตนที่ต่อเนื่องกันจากวินาทีสู่วินาทีต่อไป

แม้เราจะเปลี่ยนแปลงไปในทุกวินาที แม้ความทรงจำ ความคิด ทัศนคติ บุคลิกภาพ จะมีการเปลี่ยนแปลงไป

แต่เราก็ยังคงรู้สึกว่า ตัวเรายังคงเป็นคนเดิม หากเรายังสามารถเห็นความเชื่อมโยง ความต่อเนื่องกันของตัวเราในแต่ละช่วงเวลา

และเช่นเดียวกัน ถ้าเรามีตัวตนที่ไม่ต่อเนื่องกันภายในตัวคนๆเดียว เช่น การมีหลายบุคลิกในตัวคนเดียว

ก็จะถูกพิจารณาว่า เรามี ตัวตน อันหลากหลาย ที่ไม่ต่อเนื่อง และไม่ใช่คนๆเดียวกัน แม้ภายนอกจะเป็นคนๆเดียวกันก็ตาม หรือแม้ว่า organism เชิงชีววิทยาทั้งหมด จะเป็นสิ่งเดียวกัน ไม่ว่าเราจะมีบุคลิกภาพใด

.

.

เคยมีคนกล่าวว่า

เราอาจจะอยู่ร่วมกับมนุษย์ที่เป็นอมตะแล้วก็ได้

เพียงแต่มนุษย์ผู้นั้น ยังไม่เข้าถึงความเป็นอมตะ

.

ในมุมนี้ก็ต้องมานิยามกันให้ชัดก่อนว่า ความเป็นอมตะ คืออะไร

ถ้าความเป็นอมตะ คือ การไม่ตาย

ก็ต้องมานิยามให้ชัดว่า ความตายคืออะไรอีกทอดหนึ่ง

.

ย้อนกลับไปที่ตัวตนของเรา

ถ้าเราป่วย แล้วเราสามารถรักษาร่างกายของเรา หรือ นำร่างกายเทียมมาทดแทน หรือ ปลูกร่างกายเพิ่มเติมได้

ถ้าเราสามารถทำกระบวนการนี้ซ้ำได้เรื่อยๆ จนร่างกายเดิมของเราสูญสลายไปทั้งหมดแล้ว เราจะยังเป็นตัวเราคนเดิมหรือไม่?

ซึ่งเราอาจจะเทียบได้กับการเปลี่ยนเซลล์เป็นเซลล์ชุดใหม่ หลังเวลาผ่านไปสิบปี

.

ถ้าเรายังเป็นตัวเรา

ก็สามารถตีความได้ว่า ตัวเรา และการมีชีวิตอยู่ของเรานั้น

ร่างกายไม่ใช่สิ่งจำเป็น

ก็จะนำพาเราเข้าสู่บริบทที่ sci-fi อย่างมาก เช่น การอัพโหลดความทรงจำ และกระบวนการคิดทั้งหมดถูกแปรสภาพ ถูก digitalize เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ จะยังถือว่า เรายังมีชีวิตอยู่หรือไม่?

ในขณะที่ร่างกายของเราสูญสลาย และตายไปแล้วแน่ๆ

แต่ตัวตนในเชิงนามธรรมของเรายังอยู่

.

เมื่อเราหด และขยาย ความหมายของชีวิตและความตายไปสู่บริบทต่างๆกัน

สิ่งที่เกิดขึ้น หาใช่คำตอบไม่

แต่เป็นกองคำถามที่ทับถมกันจนเราสามารถตระหนักรู้ว่า เราคงไม่สามารถหาคำตอบของสิ่งเหล่านี้ได้

.

.

สำหรับข้อสรุป

ผมอยากสรุปแบบนี้ว่า ถึงที่สุดแล้ว

ผมสนุกกับการถามคำถามต่อตัวเอง

แต่คำถามนั้น ไม่จำเป็นต้องมีคำตอบ แต่อย่างน้อยมันต้องถูกถาม

การตั้งคำถาม ทำให้เราได้ aware ว่า โลกนี้ อย่างน้อยก็ภายในมุมมองของเรา เกิดจากการก่อร่าง สร้างโครงจากมโนทัศน์อันหลากหลาย ปะติดปะต่อ จนเห็นรอยต่อ รอยแยกที่ไม่สามารถปิด หรือซ่อมมันได้

มันทำให้เห็นว่า ชีวิตมันช่างมีความหมาย และไร้ความหมายไปพร้อมๆกัน

ชีวิตเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และไร้คุณค่าในขณะเดียวกันขึ้นอยู่กับมุมมอง ขึ้นอยู่กับบริบท

.

จากนั้นกระบวนการสุดท้าย ที่จะทำให้เราใช้ชีวิตต่อไปได้

อาจไม่ใช่การตอบคำถามให้ถูกต้อง

แต่อาจะเป็นการเลือกคำตอบ ที่เราพอใจจะอยู่ร่วมกับมันไปได้ ณ ช่วงเวลานี้

เพื่อบอกตัวเองว่า ทำไมพรุ่งนี้เรายังคงต้องใช้พลังงาน เพื่อหลีกหนีให้ห่างจาก equilibrium ต่อไป

หรือ เราควรจะหยุดเติมพลังงานเข้าไปในระบบตั้งแต่วันนี้

.

เพื่อไม่ให้อ้วนไปมากกว่านี้ 🙂