สิ่งมีชีวิตที่ดำรงอยู่ด้วยความหมาย

“เราเกิดมาเพื่ออะไร”

“เรามีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร”

.

เป็นคำถามระดับอภิปรัชญาที่เราทุกคนน่าจะเคยถามตัวเองบ้างในจุดหนึ่งของชีวิต

บางคนอาจจะตอบได้ บางคนอาจจะตอบไม่ได้ หรือ บางคนก็ไม่คิดจะตอบ

.

.

คำถามนี้ เป็นคำถามที่สำคัญที่สุด และเป็นแกนหลักของมังงะเรื่อง ‘Alice in Borderland’ ซึ่งในขณะนี้ก็ได้ถูกทำเป็น Live action ฉายผ่านทาง Netflix เรียบร้อยแล้ว

.

ถ้าใครยังไม่ได้ดู ไม่ได้อ่าน จะขออธิบายโครงคร่าวๆว่า

พระเอกชื่อ อาริสึ (Arisu) เป็น neet ที่มีปมเรื่องพ่อ และถูกเปรียบเทียบกับน้องชายที่เก่งกว่าทุกอย่าง ทำให้รู้สึกทำอะไรก็ไม่ดี ทำอะไรก็ห่วยไปหมด เลยสูญเสียเป้าหมายในการใช้ชีวิต คบกับเพื่อนอีก 2 คน คารุเบะ กับ โชตะ

วันหนึ่งในระหว่างที่กำลังเที่ยวเล่นอยู่กับเพื่อน ก็เกิดเหตุการณ์ประหลาด (ในมังงะกับซีรี่ส์เป็นคนละเหตุการณ์) ทำให้ทั้ง 3 คน ไปโผล่โลกมนุษย์เหมือนเดิม แต่ไม่มีใครอยู่เลย เป็นโลกที่เหมือนถูกทิ้งร้าง

แล้วหลังจากนั้นภายในโลกนี้ ทุกคนที่อยู่ในโลกนี้ จะต้อง “เล่นเกม” ที่ใช้ชีวิตเป็นเดิมพัน เพื่อต่ออายุ “วีซ่า” ในการอยู่ในโลกใบนี้

ถ้าวีซ่าหมดจำนวนวันเมื่อไหร่ ก็จะถูกเลเซอร์จากฟ้ายิงใส่ให้ตาย

หรือ ในระหว่างนั้นอาจจะเสียชีวิตในเกมก็ได้

.

นี่คือ เรื่องย่อแบบไม่สปอยส์

.

.

แกนกลางของเรื่องคือ ในระหว่างที่ต้องเล่นเกมเดิมพันชีวิตนั้น ในสถานการณ์ที่ชีวิตแขวนอยู่บนความเป็นและความตายตลอดเวลา ก็จะเกิดเหตุการณ์ต่างๆที่ทำให้ตัวละครต้องตระหนักและตั้งคำถามต่อประเด็นต่างๆในระดับที่ critical มากๆของชีวิต

.

ในยามที่คุณต้องเลือกระหว่างชีวิตของคุณ กับชีวิตของคนที่คุณรัก

คุณจะตระหนักได้จริงๆว่า คุณ value อะไรมากกว่ากัน ระหว่างชีวิตตัวเอง กับความสัมพันธ์ กับคุณธรรม กับชีวิตของคนที่คุณรัก

.

หลังจากที่อ่านจนจบแล้ว ผมรู้สึกว่า มังงะมันค่อนข้างวางประเด็นดี รวมถึงการสำรวจและนำเสนอแง่มุมต่างๆของรายละเอียด

ทั้งความหลากหลายของชีวิตคน ความหลากหลายของ personality และการ react ต่อประเด็นปัญหานี้อย่างหลากหลายและลึกมากพอ

และการอ่านจนจบ และตกตะกอน มันก็ทำให้เราได้ลองจินตนาการ และครุ่นคิดตามได้เหมือนกัน

.

.

เรามาลองคุยกัน และตอบคำถามสองคำถามด้านบนกัน

1. “เราเกิดมาเพื่ออะไร”

สำหรับคำตอบ ผมเสนอแบบนี้

เราไม่เกิดมาเพื่ออะไรทั้งนั้น

เพราะตอนเราเกิด เราไม่มีเจตจำนงที่จะมาเกิด

การเกิดไม่ใช่ความตั้งใจของเรา แต่เป็นความตั้งใจของพ่อแม่

เจตจำนงของการมีชีวิต จึงไม่ใช่ของเรา แต่เป็นเจตจำนงที่พ่อแม่ใส่มาให้ ณ วันที่เราเกิด

ดังนั้นหากพ่อแม่ไม่ได้ตั้งใจให้ชีวิตหนึ่งเกิด

ชีวิตนั้นก็อาจจะไร้ความหมาย หรือ กลายเป็น “ภาระ” ก็ได้

อันนี้คือ ในแง่ของสังคมมนุษย์

.

แต่ถ้าในแง่ของอภิปรัชญา

ผมก็ยิ่งมองว่า เราไม่เกิดมาเพื่ออะไรทั้งนั้นมากเข้าไปอีก

เหตุผลในแง่ของ reproduction มันทั้งมีความหมายและไม่มีความหมาย

.

ถ้ามองในฐานะความเป็นธรรมชาติ ชีวิตมุ่งหมายเพื่อ reproduce gene ของตัวเอง

ชีวิตในแง่หนึ่งก็มหัศจรรย์ ในอีกแง่หนึ่งก็ธรรมดา ดาษดื่น

หลังจาก 3.7 พันล้านปี ที่เกิดสิ่งมีชีวิตขึ้นมา

หลังจากนั้นชีวิตก็หาทางเพื่อการอยู่รอดมาตลอด การอยู่รอดจึงเป็น purpose เดียวของ “ชีวิต” ที่สำคัญที่สุด

.

ในขณะเดียวกัน เราก็ถามได้ว่า เราแค่ “เกิด” มาเพื่อ “อยู่รอด” และ “สืบพันธุ์” เท่านั้นหรือ

ถ้าคุณยอมรับได้ เราก็ตอบได้ว่า ชีวิตมันก็เท่านี้แหละ

หรือ ถ้าคุณไม่ยอมรับคำตอบนี้ “ชีวิตก็ไร้ความหมาย”

.

การเกิดไม่ได้มีความหมายด้วยตัวมันเอง

มันแค่ Life just happens หรือเปล่า.

.

.

2. “เรามีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร”

มันแตกต่างจากคำถามแรก

คำถามแรก เป็นคำถามที่ควรถามก่อนที่เราจะเกิด หรือ ในขณะที่เราพึ่งเกิด

มันจึงไม่มีเหตุผลในฐานะที่เป็น “ตัวเรา” อยู่ในนั้น (อันนี้ในกรณีที่ assume ว่า ไม่มี ภาวะ “ก่อนเกิด”)

.

แต่คำถามที่สองนี้ มันเป็นคำถามที่เราสามารถถามตัวเอง เมื่อเรามี “ตัวตน” หรือมี “consciousness” แล้ว

.

ผมพูดเรื่องนี้ซ้ำไปซ้ำมา

ว่า มนุษย์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่บริโภคความหมายเป็นพลังงานชีวิต

มันจึงทำให้เราต้องหาความหมายมา feed ให้ชีวิตยังก้าวไปข้างหน้าได้เสมอ

.

คำถามที่ว่า “เรามีชิวิตอยู่ไปเพื่ออะไร”

จึงแทบจะเป็นคำถามที่ เราควรถามตัวเองอยู่ทุกขณะจิต

แต่ไม่จำเป็นว่า เราจำเป็นต้องตอบมันได้หรือเปล่า

ถ้าเราตอบมันไม่ได้ เราก็แค่รับรู้ว่า เราตอบมันไม่ได้ในขณะนี้ หรือ เรายังไม่มีความหมายให้กับมัน

.

สำหรับผม ผมมองว่า ความหมายของชีวิต ไม่มี “คำตอบที่แท้จริง”

ไม่มีคำตอบที่ถูกต้อง

แต่มันเป็นคำตอบที่ “ถูกสร้างขึ้น”

สร้างขึ้นจากประสบการณ์ สร้างขึ้นจากสภาวะ ตัวตนของเราเอง

ดังนั้นมันจึงเป็นสิ่งที่ subjective และเลื่อนไหลอย่างมาก

.

อะไรคือ สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตเหรอ?

ความสุข?

ครอบครัว?

ความสัมพันธ์?

เพื่อน?

คนรัก?

การงาน?

เงิน?

ความสงบ?

นิพพาน?

PS5?

ก็อาจจะขึ้นอยู่กับว่า เราเป็นใคร เราอยู่ในบริบทไหน ช่วงไหน ภาวะไหนของชีวิต

.

ถ้าคุณค่าสูงสุดของชายแก่คนหนึ่งในบั้นปลายชีวิต คือ การที่มีลูกหลาน มาห้อมล้อม ในบั้นปลาย

ถามว่า มัน justify ได้หรือไม่ว่า ความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพระหว่างมนุษย์คือ สิ่งที่สำคัญที่สุดของชีวิตมนุษย์?

.

หรือ หญิงแก่คนหนึ่งที่อยู่บ้านกับแมวหนึ่งตัว ใช้ชีวิตเรื่อยๆในบั้นปลายชีวิต ทำให้เป็นชีวิตที่เหงา เปล่าเปลี่ยว งั้นหรือ? หรือมันเป็นชีวิตที่เขาพอใจแล้ว

.

หรือ ชายแก่อีกคนหนึ่งที่มีเงินรวยล้นฟ้า มีครอบครัว มีเมียที่รัก มีเมียน้อยที่รักเป็นสิบคน

ก็อยากจะลองถามเขาดูว่า อะไรคือ สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเขา

.

แล้วถ้าชีวิตที่คนที่กำลังอยู่ในวัยกลางคน หรือ ในวัยรุ่น หรือในวัยเด็ก

เราจะใช้คำตอบเดียว เพื่อตอบได้หรือไม่ว่า อะไรคือ สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต และเราควรจะอยู่เพื่ออะไร

.

แล้วถ้าเรารู้ตัวเองว่า เรากำลังจะตายในอีก 1 เดือน

เราจะเลือกทำอะไร หรือ อยู่เพื่ออะไร

แล้วเราจะตอบได้ไหมว่า “ชีวิตเราอยู่ไปเพื่ออะไรกันแน่”

.

.

ถึงที่สุดแล้ว คำตอบของคำถามนี้

ควรเป็นสิ่งที่เราควรย้ำเตือนตัวเองอยู่เสมอๆ ในแต่ละช่วงของชีวิต

ไม่ว่าเราจะตอบได้หรือไม่ก็ตาม

และคำตอบของคำถามนี้ ก็ไม่มีถูกผิด

แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือ มันช่วยให้เรา reflect ตัวตน ความต้องการ และสิ่งที่สำคัญกับเราในเวลานั้นๆของชีวิต

.

การสูญเสียความหมายที่จะมีชีวิตอยู่

มันก็ส่งผลให้ความตาย กลายเป็นสิ่งที่น่าพิศมัยมากขึ้น

หรือ เรายังคิดว่า ความตายไม่ใช่คำตอบ เราก็อาจจะต้องเดินทางเพื่อหาความหมายใหม่ต่อไป

.

.

อย่างไรก็ตาม

ในแง่ของจิตวิทยาและมานุษยวิทยา

มนุษย์เราก็มีแนวโน้มว่า สิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือ สายสัมพันธ์ที่แข็งแรงและมีความหมาย

อาจจะเป็นคนรัก เป็นครอบครัว เป็นเพื่อน

ส่วนสิ่งอื่นเป็นเพียงสิ่งแวดล้อมที่นำมาสู่สายสัมพันธ์และชีวิตที่สุขสบายมากพอ

.

ไม่ว่าจะเงินทอง ฐานะ ชื่อเสียง อำนาจ

สุดท้ายสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงสิ่งแผ้วทางที่นำไปสู่การอยู่อย่างสุขสบาย เติมเต็มความต้องการในชีวิต การได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง และความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่มีคุณภาพมากพอ

.

แต่เช่นเดียวกัน

สิ่งเหล่านั้นก็อาจจะเป็นความต้องการของคนอื่น

หรือ อาจจะเป็นความต้องการแค่ ณ ช่วงเวลาหนึ่งๆของเราก็ได้

ความสุขที่แท้จริงของเราในบั้นปลาย อาจจะเป็นการนอนอยู่บ้าน นั่งเล่นเกมใหม่ใน PS5 เพื่อเก็บ achievement ถ้วย Platinum ก็ได้ ใครจะไปรู้

.

.

ปล. ใน Alice in Borderland

ปกติเรื่องแบบนี้ ผมมักจะไม่ค่อยชอบตอนจบของเรื่อง

แต่เรื่องนี้ ผมกลับชอบแฮะ

มันเป็นความรู้สึกว่า นี่คือ choice

มังงะได้สำรวจแง่มุมต่างๆ จนหลากหลายมากพอแล้ว และมีบทสรุปที่หลากหลายแล้ว

แต่ตอนจบเป็นบทสรุปในรูปแบบหนึ่งของชีวิตมนุษย์

ไม่บังคับ ไม่บอกว่า ถูกต้อง ผิดถูก

มันเป็นแค่ choice หนึ่งๆ