เพื่อให้รู้ว่า เราไม่รู้

ทำไมคนโง่ถึงมีความมั่นใจสูง?

.

เรื่องเดิมๆ แต่เอามาเขียนใหม่อีกรอบ

ผมคิดว่า ทุกคนน่าจะเคยอ่านเรื่อง Dunning-Kruger effect กันมาหมดแล้ว

แต่ถ้ายังไม่เคยอ่าน ก็จะขอแค่ mention ถึงสั้นๆ ว่า ก็ไปอ่านซะ

อ่านไม่ยาก เข้าใจไม่ยาก

.

เราทุกคนมีความมั่นใจในตัวเองในบางจุดเสมอ

และเรามักจะประเมินสถานะของตัวเองผิด ไม่ต่ำไป ก็สูงไปเสมอ

.

โพสท์นี้อยากจะลองมาชวนคุยถึง การประเมินตัวเองในบริบทต่างๆ

โดยปกติแล้ว การประเมินใดๆ ย่อมต้องมีการขีดเกณฑ์มาตรฐาน หรือ อย่างน้อยก็ต้องมีข้อเปรียบเทียบ ซึ่งอาจจะเป็นการเปรียบเทียบกับผู้อื่น หรือ สิ่งแวดล้อมรอบข้าง

.

การจะประเมินใดๆ เราก็ต้องมีข้อมูลเพื่อใช้ประเมิน และต้องมีข้อมูลแวดล้อมที่มากพอเพื่อใช้ประเมิน

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเป็นครู เราจะประเมินนักเรียน เราก็ต้องวางขอบเขตความรู้ และเป้าหมายของการประเมินให้ได้ก่อน

เราจะประเมินนักเรียน ม.1 เราก็ต้องตั้งขอบเขตก่อนว่า นักเรียน ม.1 ควรจะเรียนรู้อะไร

ซึ่งในเชิงการศึกษาทั่วไป เรามีหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาเขียนขึ้นมาว่า นักเรียนแต่ละระดับ ควรจะเรียนรู้เนื้อหาขอบเขตเท่านี้ๆ และครูก็มีหน้าที่ประเมินตามขอบเขตนั้นๆ

แต่ถ้าเป็นเรื่องที่มันนามธรรมกว่านั้นล่ะ

เช่น พัฒนาการด้านตรรกะ ความคิด ความเชื่อมโยงเหตุผล

นักเรียน ม.1 ควรจะมีเหตุผลในระดับไหน เราจะใช้เกณฑ์ไหนวัด

แล้วนักเรียน ม.1 กับนักเรียน ม.6 จะมีระดับการใช้เหตุผลต่างกันมากน้อยแค่ไหน ตามมาตรฐาน?

.

เรื่องบางเรื่อง มันก็ประเมินได้ยากกว่า

แต่ที่มันประเมินได้ยาก เพราะเราไม่มีข้อมูล ไม่มีกรอบที่หนักแน่นพอที่จะบอกว่า ระดับพัฒนาการของคนในด้านบางด้าน มันควรจะมีลำดับขั้นอย่างไร

.

และเมื่อกลับมาที่การประเมินตัวเอง

มันยากที่ตัวเราเองจะประเมินตัวเองได้อย่างถูกต้อง เพราะข้อมูลที่เรามี ก็จะจำกัดขอบเขตอยู่ที่ตัวเรา

.

การที่เราจะประเมินตัวเองได้ถูกต้อง สิ่งที่เราควรรู้ คือ เราควรรู้ว่า ตัวเราอยู่ในระดับใด ต่ำกว่าเราคืออะไร และที่สำคัญคือ สูงกว่าเราคืออะไร

การที่จะทำความเข้าใจ หรือ รู้ว่า สิ่งที่สูงกว่าเราคืออะไร โดยที่ในความจริงเรายังไปไม่ถึงสิ่งนั้น ก็เป็นความรู้ ความสามารถอย่างหนึ่ง

มันต้องอาศัย knowledge ถึงระดับหนึ่ง

ต้องอาศัย awareness ในระดับหนึ่ง เช่นกัน

การรู้ว่า ตัวเองโง่ หรือ รู้ว่า ตัวเองไม่รู้ เป็นสิ่งที่ต้องใช้ effort ในการ achieve

.

คนโง่

จึงไม่ได้แค่ขาดความรู้เพียงอย่างเดียว

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือ การขาดความรู้ว่า ตัวเองไม่รู้อะไร ขาดมุมมองที่กว้างมากพอ จะทำความเข้าใจว่า มีพื้นที่ที่ตัวเองยังไม่รู้ หรือ ยังไม่ทำความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน

คนโง่ จะมีคำอธิบายเพียงชุดเดียว ต่อเรื่องหนึ่งๆ และจะเข้าใจว่า นั่นคือ ทั้งหมดของสิ่งนั้นแล้ว

เมื่อเข้าใจไปว่า ตัวเองมีคำอธิบาย ซึ่งสามารถอธิบายสิ่งนั้นได้แล้ว แม้มันจะเป็นเพียงแค่คำอธิบายเดียว ซึ่งในความเป็นจริง อาจจะใช่หรือไม่ใช่ หรืออาจเป็นเพียงแค่เสี้ยวหนึ่งของสิ่งนั้น ก็จะยึดเอาว่า คำอธิบายนั้นคือความจริง คือ ทุกสิ่ง และก็จะยึดถือ และมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองรู้

ส่วนคำอธิบายอื่นนั้น เป็นสิ่งที่ไม่จริงไปเสียหมด ไม่เผื่อพื้นที่ให้ความเป็นไปได้อื่นๆเลย

.

คำอธิบายว่า ทำไมคนโง่ ถึงมั่นใจ

สรุปได้ง่ายๆว่า เพราะยังไม่รับรู้ว่า โลกนั้นกลม และกว้างใหญ่มากแค่ไหน

แต่มั่นใจว่า พื้นที่เล็กๆที่ตัวเองยืนอยู่นั้น คือ โลกทั้งใบแล้ว

.

ในทุกๆวงการ มีระดับความรู้ ทั้งระดับความกว้างและความลึกของความสามารถ

คุณจะพอเข้าใจ และเห็นระดับของสิ่งๆนั้น เมื่อได้เข้าไปอยู่ในโลกนั้นถึงจุดหนึ่งๆแล้วเท่านั้น

.

ถ้าคุณเล่นกีฬาสักอย่างหนึ่ง หรือ คุณเล่นดนตรี

ก่อนที่คุณจะก้าวเข้าสู่โลกนั้น คุณจะไม่สามารถแยกความแตกต่างในหมู่คนเก่งได้เลย เพราะคุณไม่มีความรู้มากพอ ที่จะรู้ว่า อะไรยาก อะไรง่าย อะไรที่ต้องใช้ความสามารถปานกลาง และอะไรที่ต้องใช้ความสามารถสูง

เพราะทุกอย่างมันอยู่นอกเหนือความสามารถของคุณทั้งหมด

คุณอาจจะพอเห็นภาพกว้างๆ แบ่งหยาบๆได้เช่น

ผู้เล่นระดับมือสมัครเล่น > ผู้เล่นระดับโปร > ผู้เล่นระดับแนวหน้า

คุณอาจจะพอมองเห็นความแตกต่างของความสามารถและความรู้ที่แยกหยาบๆได้แบบนี้

แต่คุณจะไม่รู้ว่า เส้นแบ่งของผู้เล่นระดับมือสมัครเล่น กับระดับโปร มีเส้นแบ่งอยู่ที่ไหน

คุณไม่รู้ว่า ความสามารถตรงไหนที่แบ่งผู้เล่นระดับโปรกับผู้เล่นระดับแนวหน้าของโลก และคุณไม่มีทางดูออกว่า ผู้เล่นระดับแนวหน้า อันดับ 1 ต่างกับผู้เล่นอันดับ 8 ยังไง

.

การที่คุณจะรู้สิ่งนั้น คุณต้องเข้าไปสู่โลกนั้นจริงๆก่อน คุณถึงจะมีข้อมูลมากพอ ที่จะบอกได้ว่า ความสามารถแบบไหนเป็นความสามารถระดับทั่วไป และแบบไหนคือ ระดับสูง

.

.

ในโลกวิชาการก็เช่นกัน

คุณต้องอ่านหนังสือ อ่านข้อมูลแวดล้อมมามากพอ

พอที่จะบอกได้ว่า อะไรคือ ความรู้ อะไรคือ งานวิจัยที่ตั้งอยู่บนหลักฐาน และอะไรคือ ความคิดเห็น หรือ fiction ที่แต่งขึ้นมา อ้างอิงบนความเชื่อตัวเอง

.

คุณต้องทำความเข้าใจวิทยาศาสตร์มากพอระดับหนึ่ง และเข้าใจศาสนาระดับหนึ่ง จึงจะสามารถบอกได้ว่า หนังสือ The Tao of Physics ของ Fritjof Capra ซึ่งเป็นหนังสือที่ ‘explore’ ความเชื่อมโยง ความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์สมัยศตวรรษที่ 20 กับแนวคิดด้านปรัชญาฝั่งตะวันออก อย่างเต๋า หรือพุทธศาสนา แตกต่างกับหนังสืออย่าง “ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น” อย่างไร

.

คุณต้องเรียนรู้การเมือง ปรัชญาสังคมของโลกมากพอระดับหนึ่ง จึงจะสามารถบอกความแตกต่างระหว่างคนอย่าง อ.ประจักษ์ อ.ปิยบุตร ออกจากคนอย่างสนธิ วรงค์หรือ คนอย่างเทอดศักดิ์ได้

เพราะถ้าคุณเริ่มต้นจากความรู้ระดับศูนย์

คุณจะไม่สามารถบอกได้ว่า ความรู้ไหนจริง ความรู้ไหนมั่ว ความรู้ไหนมีสิ่งอ้างอิง ความรู้ไหนปั้นขึ้นจากน้ำ

เพราะคุณจะตัดสินความน่าเชื่อถือทั้งหมด ผ่าน personality ของผู้พูด และผ่านความสอดคล้องกับสิ่งที่คุณเคยเชื่อ

.

เช่นเดียวกันกับการประเมินสิ่งอื่นๆรอบตัว

คุณก็ต้องใช้ความรู้ระดับเดียวกัน ในการประเมินตัวเองว่า ตอนนี้ตัวเองอยู่ ณ จุดไหนกันแน่ และตัวเองมองอะไรได้ไกลแค่ไหน

ความสามารถในการวิเคราะห์ว่า มีมุมมองอื่นใดบ้างที่สัมพันธ์กับสิ่งที่ตัวเองสนใจ ก็เป็นอีกความสามารถหนึ่งที่จำเป็นในการประเมินตัวเอง

.

.

ถ้าตามเพจกันมาตลอด

ก็จะรู้ว่า ผมเน้นเสมอกับคำๆหนึ่ง คือ คำว่า awareness

ถึงที่สุดแล้ว ไม่มีใครที่สามารถรู้ทุกสิ่งบนโลก และไม่มีใครสามารถทำอย่างนั้นได้ด้วย

คุณไม่จำเป็นต้องรู้ ต้องเข้าใจทุกอย่าง

แต่สิ่งจำเป็นคือ ความตระหนักรู้ ว่า อะไรที่คุณรู้ และอะไรบ้างที่คุณไม่รู้ ซึ่งมันกว้างและมหาศาลกว่าสิ่งที่คุณรู้มากมายหลายร้อยเท่าพันเท่า

.

การพัฒนาตัวเองเริ่มจากจุดแรกจุดเดียว คือ จุดที่ว่าตัวเรานั้นไม่รู้ และไม่สมบูรณ์ เราจึงเพียรขัดเกลาและพัฒนาตัวเองกันต่อไป

ในฐานะครู ไม่มีนักเรียนแบบไหนที่สอนยากไปกว่า นักเรียนที่คิดว่า ตัวเองรู้แล้วทุกอย่าง นักเรียนที่คิดว่า ตัวเองสมบูรณ์แบบ

เมื่อคนเราคิดแบบนั้น ก็คือ จบ

การพัฒนาก็หยุด การเติบโตก็หยุด เพราะมันไม่มีความจำเป็นใดอื่นที่ต้องเติบโต

ก็ฉันมาถึงจุดที่สมบูรณ์ที่สุดแล้ว ถูกกว่านี้ สมบูรณ์กว่านี้ไม่มีจริง

.

.

awareness สำหรับการตระหนักรู้ ว่า ตัวเองยังไม่รู้

จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดของการเติบโตอย่างยั่งยืนจริงๆ