อย่างที่เราทราบว่าระบบการปกครองไทยและญี่ปุ่นเป็นแบบเดียวกัน คือระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ดังนั้นหากเทียบเคียงได้ใกล้ที่สุด ในเชิงวัฒนธรรมและภูมิภาค น่าจะใกล้เคียงมากที่สุด
ข้อมูลงบประมาณของไทยต่อไปนี้ ผมทำการตรวจใน พรบ.งบประมาณประจำปีตั้งแต่ปี 2555 และรวมกับการรายงานของประชาไท [1][2] ส่วนของญี่ปุ่นดูอ้างอิงได้ในเว็บ [5][6][7][8]
ข้อสังเกตที่ผมพบ
1. ในยุคอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ งบประมาณสถาบันฯในด้านปริมาณเงินบาทมีความใกล้เคียงกับญี่ปุ่นพอสมควร แต่ว่ามีอัตราส่วนที่สูงมากถึง 15 เท่า ซึ่งโดยหลักมาจากสำนักพระราชวังและโครงการในพระราชดำริกว่า 70%
2. ในยุคยิ่งลักษณ์ ชินวัตร งบประมาณสถาบันฯเริ่มออกมาในรูปแบบงบ “เทิดทูน พิทักษ์ รักษาสถาบันฯ” ถึง 5,036 ล้านบาท โดยนำไปไว้ในหน่วยงานราชการต่างๆ และที่สำคัญมีการเพิ่มงบโครงการที่เกี่ยวกับพระราชฐานในกรมโยธาธิการ 1,010 ล้านบาท ซึ่งในช่วงยิ่งลักษณ์รวมงบสถาบันฯเพิ่มขึ้นเกือบ 100% ภายในปีเดียว ท่านสงสัยหรือไม่ว่าทำไมถึงเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะเป็นกลุ่มการเมืองที่ชนะเลือกตั้งจากประชาชน?
3. ในยุครัฐประหารโดยประยุทธ มีการเพิ่มงบขึ้นอย่างมากอีกเช่นกัน จนกระทั่งในปี 2560 (ปี 2017) งบ “เทิดทูน พิทักษ์ รักษาสถาบันฯ” ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ” โดยงบพุ่งสูงขึ้นกว่า 100% ภายในปีเดียว
ต่อมาปี 2561 (ปี 2018) ได้มีการเปลี่ยนรูปแบบของงบประมาณ โดยรวบส่วนต่างๆเป็น “ส่วนราชการในพระองค์” และผมสังเกตการควบรวมงบประมาณจนไม่สามารถหาได้ว่า งบที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ อยู่ตรงไหน ซึ่งอาจรวมเข้าไปในงบบุคลากร หรืองบความมั่นคงอื่นๆ จนทำให้งบสถาบันฯเพิ่มขึ้นสูงที่สุดเป็น 32,051 ล้านบาท
ปี 2562 (ปี 2019) งบแผนงานยุทธศาสตร์ฯ ได้หายไปรวมในงบอื่นจนยากที่จะบ่งบอกได้ว่างบสถาบันฯไปอยู่ส่วนไหน แต่ของปี 2563 และ 2564 ทางประชาไทได้ทำรายงานอย่างละเอียดมาก ทำให้ทราบว่ามีงบทางอ้อมอื่นอีกตามรายละเอียดเพิ่มเติม
ความน่ากังวลที่ประชาชนควรตื่นตัวคือ การเพิ่มงบประมาณผูกพันเพิ่มอีกเรื่อยๆ จนไม่มีทีท่าจะลดลง ความแตกต่างระหว่างไทยและญี่ปุ่นมันสูงมากจนไม่สามารถนำมาเทียบได้
ซึ่งในมุมมองของหลายฝ่าย เช่น The Economist [3] มองว่ารัฐพยายามกลับไปเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งในสภาพปัจจุบันเริ่มห่างไกลจากระบบเดิมไปเรื่อยๆในเชิงการใช้งบประมาณ

หากคิดเป็นการจ่ายภาษีต่อคนนั้น จากโพสก่อนหน้าที่ผมเขียนเรื่อง “Subscription สถาบันฯ” จ่ายที่ประมาณ 430 -500 บาทในปี 2563 แต่ในปี 2564 เราจะต้องจ่าย 539 บาทต่อปีให้กับสถาบันฯ เพิ่มขึ้นถึง 15% ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในขณะที่ประชาชนมีรายได้ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ [4] และมีรายได้ที่ต่ำกว่าญี่ปุ่นอย่างมาก ประชาชนญี่ปุ่นจ่ายให้กับสถาบันฯ เพียง 59.1 บาทต่อปี เท่านั้น

หากดูปริมาณเงินบาท งบประมาณสถาบันฯ มากกว่าญี่ปุ่น ถึง 4 เท่า
สิ่งที่น่าสนใจอีกเรื่อง ในประเทศญี่ปุ่นมีการต่อต้านเรื่องงบประมาณสถาบันฯ เช่นกัน จากข่าวที่มีประชาชนญี่ปุ่น 240 คน ยื่นฟ้องศาลโตเกียวในเรื่องการใช้ภาษีประชาชน 3500 ล้านบาท ไปกับกิจกรรมการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์องค์ใหม่ [9] ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนสามารถฟ้องกษัตริย์ได้ในประเทศญี่ปุ่น


[1] เปิดงบประมาณปี 2563 ส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.9 หมื่นล้านบาท | ประชาไท Prachatai.com
[2] เปิดงบเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ปี 2564 รายละเอียดตามเอกสาร ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ | ประชาไท Prachatai.com
[3] Battle royal – Thailand’s king seeks to bring back absolute monarchy | Briefing | The Economist
[4] สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง – สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (fpo.go.th)
[5] Budget : Ministry of Finance (ndl.go.jp)
[6] ニッポンの課題映す 政府予算の変遷 :日本経済新聞 (nikkei.com)
[7] 政府予算の変遷を見る : 日本経済新聞 (nikkei.com)
[8] 【238億円】令和2年度の皇室関連予算【前年度とほぼ同水準】【なんで?】|呉羽パオ|note
[9] Lawsuit over Japan royal budget | The Star
ไฟล์ excel https://velayumroong.files.wordpress.com/2020/11/monarchy-comparison-201123.xlsx