ผู้ชนะเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์
และเช่นเดียวกัน ประวัติศาสตร์ก็สามารถสร้างผู้ชนะในยุคต่อไป
.
.
คนที่เรียนประวัติศาสตร์ ทำความเข้าใจประวัติศาสตร์
จะตระหนักดีว่า ประวัติศาสตร์นั้น ไม่ใช่ความจริง
ประวัติศาสตร์คือ การตีความจากสิ่งที่ถูกบันทึก
การตีความนั้นก็เกิดจากการนำหลักฐานต่างๆที่มีอยู่ ที่ถูกบันทึกอยู่อย่างมากมายมหาศาลมาปะติดปะต่อกันเป็นเรื่องราวที่เชื่อมโยงและต่อเนื่อง เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน
ดังนั้นการตีความประวัติศาสตร์ ก็คือ การเติมคำลงในช่องว่างนั่นเอง
และการจะถมช่องว่างนั้นให้ดีที่สุด ให้แม่นยำที่สุด ก็คือ การค้นคว้า และเลือกจัดวางหลักฐานที่ถูกบันทึกนั้นให้ชิดกันมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เหลือช่องว่างในการตีความน้อยลง
.
นั่นคือ กระบวนการทั่วไป
แต่กระนั้นท่ามกลางหลักฐาน และสิ่งที่ถูกบันทึกอย่างหลากหลายนั้น
มันก็ไม่จำเป็นว่า สิ่งเหล่านั้นต้องเป็น “ความจริง” เสมอไป
เพราะหากเราทำความเข้าใจ หลักฐานและบันทึกเหล่านั้น เราย่อมเข้าใจได้ว่า สิ่งเหล่านั้นก็เป็นการตีความ เป็นมุมมองหนึ่งๆที่เกิดขึ้น ณ เวลาและบริบทนั้นๆ
ดังนั้นหลักฐาน และบันทึกต่างๆ จึงไม่ใช่สิ่งสะท้อนความจริง แต่เป็นมุมมองที่สะท้อนต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
มีบันทึก และมีหลักฐานมากมายที่เกิดขึ้น เพราะถูก “สร้าง” อย่างตั้งใจ ให้บิดเบี้ยว เพื่อผลประโยชน์หนึ่งๆ
การวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของหลักฐาน จึงเป็นเรื่องสำคัญ และ critical สำหรับนักประวัติศาสตร์เสมอ
.
ในขณะที่นักประวัติศาสตร์รับรู้ และตระหนักว่า ประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ความจริง
คนต่างหาก ที่ไปยึดถือว่า ประวัติศาสตร์คือ “ความจริง”
และยึดถือ “ความจริง” นั้นในฐานะสิ่งที่โต้แย้งไม่ได้
*****
ก่อนจะไปต่อ ผมขออธิบายคำว่า “ความจริง” กับ ความจริง ที่สื่อความต่างกัน ถ้าเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ผมจะใช้คำว่า Truth กับ truth
คำว่า Truth นั้นหมายถึง ความจริงสัมบูรณ์ เป็นความจริงที่โต้แย้งไม่ได้ ซึ่งบางครั้งกินความไปในพื้นที่ของอภิปรัชญา เป็นความจริงในระดับจักรวาลที่จะสามารถอธิบายทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นพื้นฐานของความเป็นไปทั้งปวง
แต่คำว่า truth นั้นหมายถึง ความจริงหนึ่งๆ ซึ่งอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ อาจจะเป็นความจริงในมุมมองของคนๆหนึ่ง และไม่จริงในมุมของอีกคนหนึ่ง แต่ความจริงนั้น มันสามารถอธิบายความเป็นไปบางอย่างและทำให้คนๆหนึ่งเข้าใจไปว่า มันจริง
*****
และเมื่อเรายึดถือประวัติศาสตรนั้น ในฐานะ “ความจริง”
สภาวะของตัวเรากับประวัติศาสตร์ จะไม่ใช่ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์อีกต่อไป
แต่เราจะกลายเป็นทาสของประวัติศาสตร์นั้นแทน เพราะชีวิตเราจะดำเนินไปภายใต้การชี้นำของประวัติศาสตร์ในฐานะ “ความจริง”
.
.
ประวัติศาสตร์นั้น มีลักษณะไม่ต่างจากเรื่องเล่า หรือ narrative
และใครเป็นผู้เขียนเรื่องเล่านั้นให้สามารถถูกวางลงในสามัญสำนึกของคนได้
คนเหล่านั้นก็สามารถชี้นำสามัญสำนึกของคนในยุคต่อไปได้เสมอ
.
เหมือนที่เคยพูดเสมอว่า มนุษย์นั้นดำรงชีวิตโดยการบริโภคความหมาย เป็นสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิต
ความหมาย จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตมนุษย์สามารถดำรงอยู่ได้
ความหมายนั้น สำคัญกว่าข้าว สำคัญกว่าชีวิตด้วยซ้ำ
.
ในแง่นี้ มนุษย์แทบทุกคนต้องเคยถามตัวเองว่า ฉันเกิดมาทำไม
ฉันมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร
แล้วเมื่อตอบสิ่งนั้นได้ ฉันจึงอยากจะมีชีวิตอยู่
กลับกัน หากเราตอบตัวเองไม่ได้ ไม่มีสิ่งผูกพัน ไม่มีสายใยยึดโยง ไม่มีความหมายของชีวิต
ความตาย ก็ไม่ใช่สิ่งน่ากลัวเลย การมีชีวิตอยู่อย่างว่างเปล่า มันน่ากลัวกว่ามาก
.
ดังนั้นเรื่องเล่า และความหมายจึงเป็นสิ่งที่ทรงพลังที่สุดแล้วในสังคมมนุษย์
ไม่ว่าจะความรุนแรง ไม่ว่าจะเงินตรา ไม่ว่าจะจำนวน
สิ่งใดๆย่อมถูกยึดโยงด้วย “ความหมาย” ที่มนุษย์ยอมรับร่วมกัน
เราจึงต้องสร้างเรื่องเล่า สร้างข้ออ้าง สร้างวาทกรรม สร้างความชอบธรรม มารองรับสิ่งต่างๆ แม้แต่อำนาจปืน
และเผื่อว่าใครยังไม่ตระหนัก
“เงิน” นี่แหละ คือ ความหมายที่ทรงพลังที่สุด เป็นสื่อกลางของ “คุณค่า” ที่ถูกตีความให้กลายเป็น “มูลค่า”
เราต้องยอมรับความหมายของเงินก่อน เราถึงจะสามารถใช้เงินได้
เงินจะไร้ค่าทันที เมื่อทุกคนไม่ยอมรับคุณค่าของมัน
.
พลังของ narrative (เรื่องเล่า) จึงเป็นสิ่งที่ทรงพลังมากๆ และสังคมมนุษย์ก็ถูกสร้างขึ้นบนฐานของเรื่องเล่าๆ
ในฐานะ “ระบบ”
ในฐานะ “วัฒนธรรม”
ในฐานะ “ศีลธรรม จริยธรรม”
ในฐานะ “ความชอบธรรม”
ซึ่งในปรัชญาแบบ post modernism
Narrative ใดที่ทรงพลังมากๆ มีอำนาจ และมีอิทธิพลระดับครอบครองความคิดของคนในสังคม ก็จะถูกยกให้เป็น Meta-narrative (เรื่องเล่าหลัก) หรือก็คือ วาทกรรมหลักที่ใช้อธิบายระบบ กฎเกณฑ์ของสังคม
.
จริงๆ การอธิบายเรื่องนี้ มันสามารถใช้ทำความเข้าใจกับวาทกรรมทุกสิ่งทุกอย่างในสังคม
การสร้างวาทกรรมในสังคมนั้น ย่อมถูกสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์บางอย่างเสมอ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับใคร ก็อยู่ที่บริบท
และประวัติศาสตร์ ก็เป็นหนึ่งในเรื่องเล่าเหล่านี้เช่นกัน
.
อ้างอิงจากหนังสือ ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี
ในประเด็นของประวัติศาสตร์ที่ใช้อธิบายคุณงามความดีของกษัตริย์ในยุคอาณานิคมที่ช่วยให้ชาติ ก้าวผ่านการเป็นตกเป็นอาณานิคมนั้น ถูกสร้างขึ้นมานานมากแล้ว ก่อนยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียอีก
และเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในช่วงนั้นมันเป็นช่วง power struggle
คณะราษฎร์นั้นมีสองฝ่ายหลัก ทั้งสายราษฎร และสายทหาร รวมทั้งอำนาจทหาร และอำนาจศักดินาที่แม้จะอ่อนกำลังลง แต่ก็ไม่ได้หมดไป
ช่วงนั้นเป็นการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจ และแย่งชิงวาทกรรมหลักว่า จะใช้วาทกรรมไหนนำสังคม
หลักจากผ่านการปฏิวัติหลายครั้ง
ในที่สุดอำนาจกษัตริย์ก็กลับมามีอำนาจอีกครั้ง ผ่านการควบรวมกับอำนาจทหาร
และการเกิดดึงเอาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเจ้า ผ่านทางวรรณกรรม ผ่านทางวาทกรรมให้กลับมาโลดแล่นบนเรื่องเล่าระดับรัฐอีกครั้ง แล้วก็กลายเป็นรากฐานของสังคมมาอีกนับ 50-60 ปี
ซึ่งตรงนี้จะขอข้ามรายละเอียดที่มหาศาลและซับซ้อน อย่างความสัมพันธ์ระหว่างไทย-อเมริกา
วาทกรรมคอมมิวนิสต์ หรือ power struggle ระหว่างทหารสายต่างๆ
เพราะถ้าต้องพูดถึงทั้งหมด ก็คงต้องทำวิทยานิพนธ์อีกเล่ม
.
ในแง่นี้ ก็ถือว่า สิ่งที่ทหารและเจ้าทำสำเร็จ คือ การวางวาทกรรมที่สนับสนุนโครงสร้างอำนาจกษัตริย์ในเวลานั้น ให้ค่อยๆฝังตัวลงในสังคมผ่านสื่อหลักอย่างวรรณกรรม หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และวิทยุ
ซึ่งสื่อเหล่านี้ ถึงที่สุดแล้ว ก็อยู่ภายใต้อำนาจรัฐ ที่รัฐสามารถมีอิทธิพลในการควบคุมได้
อำนาจสูงสุดไม่ได้อยู่ที่ประชาชน
ในแง่นี้มันจึงเป็นคำอธิบายที่ทุกคนรู้ดีว่า
ใครเขียนประวัติศาสตร์ ใครควบคุมเรื่องเล่าได้ ก็สามารถควบคุมสังคมได้ในยุคต่อไป
.
.
แต่คำถามที่จริงๆทุกคนก็รู้ดีว่า แล้วทำไมวันนี้มันถึงไม่เวิร์คอีกแล้ว
คำตอบนั้นง่ายแสนง่าย เพราะทุกวันนี้รัฐคุมสื่อไม่อยู่แล้ว
ในวันที่ทุกคนเป็นสื่อ ทุกคนสามารถผลิตคอนเทนต์ด้วยตัวเองได้ มีกล้องเป็นของตัวเอง
เราไม่ได้อยู่ในยุค Selective information โดยรัฐอีกต่อไป
เราอยู่ในยุค Information overwhelm ที่ทุกอย่างโถมเข้าใส่เรา
ในยุคที่ไม่มีใครสามารถควบคุมสื่อได้ และเราทุกคนเป็นเจ้าของเรื่องเล่า เป็นเจ้าของการเขียนประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ถูกบันทึกด้วยเราทุกคน และถูกตีความด้วยเราทุกคน
และเราเองที่ต้องเป็นคนเลือกและคัดข้อมูล เรื่องเล่าเหล่านั้นด้วยตัวเอง
จากนั้นเราจะเลือกผลิตซ้ำเรื่องเล่าไหน ก็อยู่ในดุลยพินิจของเรา
สุดท้ายเรื่องเล่าแบบใดที่จับใจคนได้มากกว่า
ประวัติศาสตร์แบบใด ที่คนเชื่อว่าเป็นเหตุเป็นผลมากกว่า
ก็จะกลายเป็นความจริง เป็นเรื่องเล่าหลักที่จะครอบครองสังคมในยุคต่อไป
.
ประวัติศาสตร์จึงไม่ใช่การบันทึกความจริงเสมอไป
แต่ประวัติศาสตร์ เกิดจากการสร้าง และการตีความ
ยุคสมัยที่ผ่านๆมา การบันทึกประวัติศาสตร์ ตกอยู่ในมือของชนชั้นนำ หรือผู้มีอำนาจในการเลือกบันทึก หรือ อย่างน้อยที่สุดก็คือ ผู้รู้หนังสือ อ่านออกเขียนได้
แต่ในสมัยนี้ การบันทึกประวัติศาสตร์ เป็นอำนาจที่อยู่ในมือของทุกคน ต่อให้เขียนไม่ได้ ก็ใช้กล้องเอา
.
.
สิ่งที่เราทำวันนี้ มันไม่ได้สร้างสังคม ณ วันนี้
แต่มันจะกลายเป็นฐานให้กับสังคมในวันหน้า
เราเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์
เราจงเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างมัน
จงอย่ากลายเป็นทาสของมัน
—————-
image
เพจ Aunnism