Sex Worker: ต้องแยกให้ได้ระหว่างการทำให้ถูกกฎหมาย (Legalisation) กับการทำให้ไม่เป็นอาชญากรรม (Decriminalization)

จากเรื่องหนังโป๊ที่ รัฐบาลบล็อค Pornhub ทำให้เรามองเห็นแล้วว่าการแบนหนังโป๊ในประเทศไทยนั้นเป็นเรื่องที่ยังล้าหลังเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ผมจึงตั้งข้อสงสัยที่สำคัญมากของประเทศไทย กับเรื่องการขายบริการทางเพศ กลุ่ม sex worker ในประเทศไทยที่ยังผิดกฎหมายอยู่

จากรูปแผนที่โลก [5]
– สีเขียว, ส้ม, น้ำเงิน คือ การทำให้ถูกกฎหมาย (Legalisation)
– สีฟ้าสะท้อนแสง คือ การทำให้ไม่เป็นอาชญากรรม (Decriminalization)
– สีแดง คือ การทำให้เป็นอาชญากรรม (Criminalisation) ซึ่งมีประเทศไทยอยู่ในนั้น

หลังจากไปหาข้อมูลนิดหน่อย มีนักเคลื่อนไหวที่เป็น sex worker ในออสเตรเลียชื่อ Talya De Fay [1] มาให้คำจำกัดความว่า Legalisation ทำร้ายผู้หญิง, Decriminalization ช่วยเหลือผู้หญิง แต่ Criminalisation แบบประเทศไทยทำลายผู้หญิงมากที่สุด

ซึ่งเมื่อลองมาคิดว่า การขายบริการทางเพศ เป็นถึง อาชญากรรม มันดูรุนแรงและ shame หรือทำให้ sex worker ลดทอนตัวตนของตัวเองในสังคมอย่างมาก ถึงกับว่านี่เป็นความผิดร้ายแรง ทั้งๆที่เป็นการให้บริการด้วยร่างกายของตนเอง ซึ่งไม่ได้ทำร้ายใครด้วยซ้ำไป

วันนี้มีม็อบของกลุ่ม LGBTQ และ ผู้หญิงปลดแอก มาถึงตอนปราศรัยเรื่อง การทำให้ sex worker (การบริการทางเพศ) เป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย นี่คือสิ่งที่เห็นด้วยแต่อาจจะไม่ถูกทั้งหมด


คำถามคือ การทำให้อาชีพนี้ถูกกฎหมายนั้น ช่วยหรือทำร้าย sex worker กันแน่? ซึ่งมันมีประเด็นของการที่ผู้หญิงถูกมองเป็นสิ่งของ, การส่งเสริมความรุนแรงทางเพศ, การลักพาตัวข้ามพรมแดน และปัญหาอื่นๆอีกมากมาย

แล้วเราต้องแยกให้ชัดเจนกับเรื่องนี้ มันจะมี 3 ทางให้เลือก สำหรับเรื่อง sex worker


1. การทำให้ถูกกฎหมาย (Legalisation) ที่ผู้ชุมนุมปราศรัยรณรงค์ในวันนี้ มันจะทำร้ายผู้หญิงมากกว่า เพราะ แทนที่จะยกเลิกกฎหมายที่ทำให้การบริการทางเพศ “ผิดกฎหมาย” แต่การตรากฎหมายใหม่ขึ้นมาเพื่อที่จะทำให้ “ถูกกฎหมาย” อาจจะทำให้ sex worker ส่วนหนึ่งไม่ผ่านเกณฑ์กฎหมายใหม่ อาจจะด้วยข้อจำกัดหลายๆอย่าง ซึ่งจะทำให้ sex worker กลุ่มนี้ถูกลงโทษทางกฎหมายอีกรอบด้วยซ้ำ! ผู้หญิงกลุ่มนี้ก็จะถูกริดรอนสิทธิต่อไป เพราะว่าไม่มีทางเลือก [3]


ตัวอย่างของการตรากฎหมายนี้ ในประเทศตูนิเซีย [2] เช่น การที่ sex worker ต้องไม่เคยแต่งงานมาก่อน อาจจะทำให้ต้องหลีกเลี่ยงการขึ้นทะเบียนกับรัฐ หรือ ประเทศนอร์เวย์ [6] ที่กฎหมายเข้มงวดนี้ทำให้ผู้ขายบริการต้องถูกจับตามองอย่างเข้มงวดจนละเมิดสิทธิส่วนบุคคล


นอกจากนั้นการมีกฎหมายบังคับ ทำให้อาชีพนี้เป็น “อาชีพพิเศษ” ทำให้ sex worker เป็นพลเมืองชั้นสอง หรือชั้นสามไป เพราะการจำกัดสิทธิเสรีภาพ


2. การทำให้ไม่เป็นอาชญากรรม (Decriminalization) ทำให้การขายบริการทางเพศเป็นอาชีพทั่วๆไปเหมือนอาชีพอื่น เช่น ช่างตัดผม ดีไซเนอร์ พนักงานออฟฟิศ ฯลฯ ซึ่งความสำคัญของ Decriminalization นั้น คือการที่ sex worker สามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐได้อย่างเท่าเทียมกับอาชีพทุกอาชีพในสังคม


นอกจากนั้น Amnesty International ยังสนับสนุน Decriminalization เพราะเขาเชื่อว่า “Sex Workers’ Rights are Human Rights” สิทธิในการให้บริการทางเพศคือสิทธิของมนุษย์นั่นเอง [4]


3. การทำให้เป็นอาชญากรรม (Criminalisation) ซึ่งประเทศไทยบังคับใช้อยู่ในตอนนี้ อย่างที่เราได้รับรู้กันว่า ประเทศไทยเป็นเมืองหลวงของ sex worker โลก อ้างอิงจากหนังฮอลลีวู้ด จากมุมมองของคนต่างชาติ


แม้ว่าจำนวนของ sex worker ที่สำรวจในประเทศไทยจะมีประมาณ 3 แสนคน และอัตราส่วนของ sex worker ต่อประชากรไม่ได้อยู่ในอันดับสูงของโลก นั่นแปลว่าประเทศไทยไม่มีสิ่งอื่นที่น่าสนใจไปกว่านี้หรือไม่?


ในมุมมองผมเอง ไม่สนับสนุนการไปใช้บริการทางเพศกับระบบกฎหมายแบบนี้ เพราะมันเป็นการสนับสนุนผู้คุ้มครองที่อยู่เบื้องหลัง เป็นการสนับสนุนการกดขี่ผู้ที่จำยอมต้องทำอาชีพนี้อย่างไร้ศักศรี การถูกเหยียดหยามจากสังคม เช่นการด่าว่า “กะหรี่” “อีตัว” การถูกนำไปเล่นมุกตลก การนำถูกนำไปล้อเลียน การพูดคุยกันของกลุ่มผู้ชายที่มองว่าการใช้บริการทางเพศเป็นเรื่องปกติในสังคม


ถ้าสังคมไทยยังไม่ปรับมุมมองต่ออาชีพให้บริการทางเพศ ยังไม่มีความเคารพในร่างกายของเพศตรงข้าม และยังคงความมือถือสากปากถือศีลต่อไป กลางวันเข้าวัดเข้าวา กลางคืนแอบเมียไปอาบอบนวด สังคมไทยยังต้องเคลื่อนไหวกันอีกนาน


เราขอเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุน “Decriminalization” คือทำให้อาชีพบริการทางเพศไม่เป็นอาชญากรรม คือทำให้อาชีพนี้ได้รับผลประโยชน์จากภาษีแบบเท่าเทียม ทำให้ปลิงที่เกาะหยุดสูบเลือดสูบเนื้อจาก sex worker ที่ต้องทนอยู่ภายใต้ระบบกดขี่ในตอนนี้

[1] https://www.quora.com/Does-legalizing-prostitution-help-or-hurt-women-with-respect-to-issues-such-as-objectification-sexual-assault-sex-slavery-and-trafficking-Is-there-interesting-data-from-countries-that-have-made-the-transition-in-either-direction?fbclid=IwAR0Svxi68s7HQIJnnmH7yzvya_-Cnm7Crw7HMWsudmzkk642Slu697ga8wo
[2] http://spl.ids.ac.uk/content/tunisia
[3] https://www.quora.com/What-is-wrong-with-legalized-prostitution/answer/Charles-LeRoq
[4] https://www.amnesty.org/en/latest/news/2015/08/sex-workers-rights-are-human-rights/
[5] https://en.wikipedia.org/wiki/Decriminalization_of_sex_work
[6] https://www.amnesty.org/en/documents/eur36/4034/2016/en/

หนึ่งความเห็นตอบกลับที่ “Sex Worker: ต้องแยกให้ได้ระหว่างการทำให้ถูกกฎหมาย (Legalisation) กับการทำให้ไม่เป็นอาชญากรรม (Decriminalization)”