จากมือตบถึงนกหวีด
พัฒนาการและพลวัตรของขบวนการต่อต้านทักษิณ
เขียนโดย กนกรัตน์ เลิศชูสกุล
สิ่งที่จะเขียนต่อไปนี้ อยากจะเชื่อมโยงให้เห็นความเป็นมา และเหตุที่นำมาสู่ผลของการเกิดขึ้นของขบวนการทางการเมืองที่ต่อต้านทักษิณ ตั้งแต่พันธมิตร จนมาถึงจุดสูงสุดที่ กปปส.
สิ่งที่จะเขียนนี้คือ ทั้งเป็นงานเขียนส่วนของตัวเอง ผสมรวมๆกับ การสรุปและอ้างอิงจากหนังสือ “จากมือตบถึงนกหวีด”, 2563 ของ อาจารย์กนกรัตน์ เลิศชูสกุล
หนังสือเล่มนี้ เป็นการสรุปงานวิจัยภายใต้หัวข้อ “พัฒนาการและพลวัตของขบวนการต่อต้านทักษิณ: จากขบวนการเสรีนิยมอันหลากหลาย สู่ขบวนการอนุรักษ์นิยมเข้มข้น”
—————————–
วิธีวิจัยของอาจารย์ นอกเหนือจากการ literature review จากหนังสือการเมืองไทยร่วมสมัย และบทความต่างๆทั้งงานพิมพ์ และบนเว็บไซท์
อาจารย์ยังลงพื้นที่สัมภาษณ์คนจำนวน 100 คน ทั่วประเทศ
คนเหล่านี้เป็นคนที่เคยปรากฏชื่อ และมีบทบาทในขบวนการต่อต้านทักษิณในช่วงเวลาต่างๆ
งานวิจัยชิ้นนี้จึงเป็นการสุ่มตัวอย่าง เพื่อใช้เป็นภาพแทนของขบวนการโดยรวม
.
ในช่วงเวลายาวนานเกือบ 20 ปี ตั้งแต่ช่วงปี 2540-2557 เป็นช่วงตั้งแต่ที่ทักษิณเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในเวทีการเมืองไทย จนถึงจุดที่กระแสความนิยมทักษิณขึ้นสู่จุดสูงสุดและสิ้นสุดลง ณ การรัฐประหาร ปี 2557
ในช่วงเวลานี้กระแสการเมืองก็ทำให้เกิดขบวนการต่อต้านทักษิณ จากผู้ที่เสียประโยชน์จากกระแสการเมืองนี้ในหลายบริบท
.
หนังสือเล่มนี้ขยายให้เราเห็นถึง spectrum ของคน และพลวัตความเปลี่ยนแปลงของกระแสอำนาจ ค่านิยม รวมถึงวาทกรรมที่เปลี่ยนไป
.
งานวิจัยได้ categorized กลุ่มคนในกระบวนการออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ
1. กลุ่มอนุรักษ์นิยมเหนียวแน่น ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีจำนวนมากที่สุด และมีพลังในขบวนการมากที่สุด ซึ่งเห็นได้จากวาทกรรมที่ถูกขยาย และดังที่สุด คือ วาทกรรมเชิงอนุรักษ์นิยม
2.กลุ่มเสรีนิยมผู้ยอมประนีประนอม เป็นกลุ่มเสรีนิยมที่โอนอ่อนกับทิศทางของขบวนการ โดยยอมวางหลักการหรือความเชื่อของตัวเองลง และเข้าร่วมกับขบวนการ เนื่องจากมีเป้าหมายที่ใหญ่กว่า นั่นคือ การต่อสู้กับระบอบทักษิณ
3. กลุ่มเสรีนิยมผู้ถูกทำให้เป็นชายขอบ เป็นกลุ่มเสรีนิยมที่ถูกกีดกัน และถูกผลักไสออกจากขบวนการ เนื่องจากมีความคิดเห็นและค่านิยมที่ไม่ตรงกับขบวนการ ซึ่งมีทั้งแบบที่ถูกขับออกมา และเดินออกมาเอง เนื่องจากไม่สามารถเข้าร่วมกับสิ่งที่ผิดหลักการ หรือ ผิดกับสิ่งที่ตนเชื่อได้
.
จาก 100 samples ที่สุ่มมานี้ สัดส่วนของกลุ่มคน คือ
กลุ่มที่ 1 – 75 คน
กลุ่มที่ 2 – 11 คน
กลุ่มที่ 3 – 14 คน
นี่คือ จำนวนจากงานวิจัย ซึ่งถ้าหากมองในขบวนการจริง สัดส่วนก็อาจแปรผันไปจากนี้ ซึ่งคงไม่สามารถหาตัวเลขที่แน่นอนหรือแม่นยำได้
.
.
ถ้าหากเราตี timeline คร่าวๆ ก็คงไล่เรียงได้ดังนี้
ก่อตั้งไทยรักไทย ปี 2541
ช่วงที่รัฐบาลทักษิณเริ่มเป็นรัฐบาล ปี 2544
ช่วงที่เกิดกรณี ข้อพิพาทต่างๆ มีคดีความ มีผู้ได้-เสียประโยชน์
เกิดกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำโดยสนธิและจำลอง ปี 2548
รัฐประหาร ปี 2549
สมัคร ขึ้นเป็นนายก ปี 51
สมัคร สิ้นสุดการเป็นนายก จาก คดีเป็นพิธีกร ชิมไปบ่นไป และ ยกโขยง 6 โมงเข้า
จัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร อภิสิทธิ์ขึ้นเป็นนายก ปี 2551
ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลอภิสิทธิ์ สลายการชุมนุมเสื้อแดง ปี 2553
เลือกตั้ง ปี 2554 ไทยรักไทย ชนะ ยิ่งลักษณ์ ขึ้นเป็นนายก
พรบ.นิรโทษกรรม ปี 2556
เกิด กปปส.
รัฐประหาร ปี 2557
.
.
จาก timeline นี้
กลุ่มพันธมิตร เสื้อเหลือง ซึ่งภายหลังก็กลายเป็น กปปส.
มีบทบาทตั้งแต่ช่วง 2548 ถึง 2557 และกลายมาเป็นกลุ่มก้อนพลังอนุรักษ์นิยม อำนาจและกษัตริย์นิยมในวันนี้
.
แต่จุดเริ่มต้นจริงๆนั้น
ในช่วงแรกกลุ่มที่มีบทบาทมากที่สุด ไม่ใช่กลุ่มอนุรักษ์นิยม
แต่เป็นกลุ่มเสรีนิยม กลุ่มที่ 2 และ 3
เนื่องจากเหตุผลว่า คนกลุ่มที่ 2 และ 3 มีความสนใจการเมืองอยู่แล้ว และติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิด
ในช่วงที่รัฐบาลทักษิณอยู่ในกระแสสูง มีการเกิดคดีความต่างๆ ที่ทำให้ประชาชนไม่พอใจ และกลุ่มเสรีนิยมนี่เอง เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มองว่า ทักษิณกลายเป็นอำนาจเหนือระบอบประชาธิปไตย เพราะภายใต้กติกานี้ ไม่มีพลังอื่นที่สามารถคานอำนาจของรัฐบาลทักษิณในระดับรัฐสภาได้
กลุ่มเสรีนิยมจึงเป็นผู้ที่ active มากในช่วงแรก ทั้งช่วยจัดตั้งขบวนการ จัดตั้งการชุมนุม และช่วยประสานงานการก่อตั้งขบวนการ
เนื่องจากตัวเองเป็นผู้ที่มีประสบการณ์การมีส่วนร่วมทางการเมืองอยู่แล้ว มีประสบการณ์การจัดการมวลชน หลายคนจึงเป็นหนึ่งใน pioneer ของขบวนการนี้ในหลายๆพื้นที่
.
อย่างไรก็ตาม
เมื่อขบวนการเติบโตขึ้น ประเด็นปัญหาในหลายบริบทก็กลายมาเป็นข้อพิพาทระหว่างแนวคิดเสรีนิยม และแนวคิดอนุรักษ์นิยม ยกตัวอย่างเช่น วาทกรรมที่ถูกชูภายในขบวนการ, แนวทางความเคลื่อนไหวแบบเผชิญหน้า หรือ กรณีเขาพระวิหาร หรือ การสนับสนุนรัฐประหาร เป็นต้น
ซึ่งประเด็นอย่างวาทกรรม ทั้งแกนนำและขบวนการ ทั้งเชิดชู และโอบรับ วาทกรรมชาตินิยม และกษัตริย์นิยม เป็นวาทกรรมหลักของขบวนการ รวมถึงมีการเผชิญหน้าอย่างรุนแรงต่อผู้มีความคิดเห็นต่าง มีการใช้กำลัง และมีการปะทะ บีบบังคับ
.
อีกทั้งในส่วนของข้อพิพาท และแนวทางที่ไม่ตรงกันเหล่านี้ จึงทำให้เสรีนิยมที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการต้องถูกขับออก หรือ เดินออกมาด้วยตัวเอง
แต่ก็มีเสรีนิยมจำนวนหนึ่งที่ยอมวางหลักการต่างๆเหล่านี้ เพื่อเป้าหมายที่สำคัญกว่า อย่างการทำลายระบอบทักษิณ จึงทำให้เสรีนิยมเหล่านี้ แม้จะไม่เห็นด้วย แต่ก็ยังร่วมกับขบวนการต่อไป
.
.
ทีนี้ประเด็นสำคัญ คือ อะไรที่ทำให้ขบวนการที่เริ่มจากแนวคิดที่มีแนวคิดนำเป็นเสรีนิยมที่มีความหลากหลาย และมี spectrum ถูกกลืนกลายเป็นอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว
เหตุผลหยาบๆที่สุด สองเหตุผลก็คือ
หนึ่ง การเติบโตของกลุ่มคนที่มีแนวคิดเชิงอนุรักษ์นิยมเหนียวแน่นมีการเติบโต และเพิ่มจำนวนในขบวนการสูงที่สุด
และสอง แกนนำ เลือกที่จะชูประเด็นอนุรักษ์นิยม ซึ่งเป็นแนวคิดกษัตริย์นิยม ผสมกับแนวคิดเชิงศาสนา และหลอมรวมกันกลายเป็นค่านิยมเชิงจริยธรรม ศีลธรรม ความดี
และสิ่งนี้เป็นเครดิตของขบวนการพันธมิตร สามารถมองว่า หัวขบวนมีความสามารถสูงในการจับจุด และใช้ประโยชน์จากค่านิยมนี้ เพื่อนำมาสร้างวาทกรรมที่สอดคล้องไปกับขบวนการได้
เนื่องจากค่านิยมอนุรักษ์นิยมนี้ เป็นค่านิยมที่อยู่กับสังคมไทยมานาน เข้าใจได้ง่ายในบริบทสังคมไทย
เมื่อมันเข้าใจได้ง่าย ก็ดึงดูดใจคนได้ง่าย
.
สิ่งหนึ่งที่เราตระหนักดีคือ วาทกรรมการเมืองเป็นเรื่องไกลตัวนั้น มีพลังมาก
ทั้งๆที่การเมืองอยู่รอบตัวเราตลอดเวลา แต่สังคมไทยประสบความสำเร็จอย่างมาก ในการทำให้การเมืองไม่ใช่การเมือง
ตลอดมาภาพของการเมือง คือ
การเมืองเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญต่อเรา
ไม่มี impact ต่อตัวบุคคลอย่างสลักสำคัญ
และการเมือง เป็นเวทีของการคดโกง และเป็นเรื่องน่ารังเกียจ มีแต่คนเลว คนโกงไปรวมกันอยู่ในการเมือง และตัวเราในฐานะคนดี มีศีลธรรม ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง
ภาพของการเมืองในลักษณะนี้ เป็นภาพที่มี influence ต่อสังคมไทยมาก
แต่สิ่งที่ขบวนการพันธมิตรทำได้สำเร็จคือ การทำให้มันไม่ใช่การเมือง (depoliticize) และทำให้ผู้เข้าร่วมขบวนการรู้สึกว่า ฉันเข้าร่วมความเคลื่อนไหวทางการเมือง ด้วยเหตุผลทางศีลธรรม และคุณธรรม
แล้วยิ่งในภายหลัง เมื่อการจัดตั้ง กปปส. สำเร็จ
กระบวนการนี้ยิ่งถูกทำให้เป็นรูปธรรมอย่างมีระบบระเบียบขึ้น ด้วยการทำให้การเข้าร่วมม๊อบ กปปส. กลายเป็นการมาเที่ยว festival
มีกิจกรรมต่างๆให้ทำ กลายเป็น entertainment
จุดที่แสดงออกให้ชัดที่สุด คือ การรณรงค์ไม่ให้ไปเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ด้วยการสร้าง event “วันปิคนิคแห่งชาติ” (National Picnic Day) ซ้อนลงไปในวันเดียวกัน และเชิญชวนคนไม่ให้ไปเลือกตั้ง
แต่ให้ข้ออ้างที่ไม่ใช่การเมือง
.
กระบวนการ depoliticize นี้ ประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะพื้นฐานของสังคมไทยนั้น เกลียดกลัวการเมืองอยู่แล้ว
ซึ่งมันก็ยังถูก reflect ออกมาในปัจจุบัน อย่างวาทกรรมกษัตริย์ไม่เกี่ยวกับการเมือง
วาทกรรมฉันไม่สนใจการเมืองแล้ว
สิ่งที่ฉันสนใจ คือ เรื่องของคุณธรรม และจริยธรรม ซึ่งไปผูกโยงกับความชอบธรรมของค่านิยมหลักอย่าง ชาติ ศาสนา กษัตริย์ และสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่การเมือง
ดังนั้นการต่อต้านระบอบทักษิณ จึงไม่ใช่การต่อสู้ทางการเมืองโดยตรง แต่เป็นการต่อสู้ในเชิงศีลธรรม เป็นการต่อสู้ของธรรมและอธรรม
และในที่สุดวาทกรรม ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และ ทักษิณชั่วร้าย ก็กลายเป็นวาทกรรมหลักของการต่อสู้
คนที่มองการเมืองในลักษณะนี้ ในขบวนการมีอยู่เป็นจำนวนมาก มหาศาล
และคนเหล่านี้มีประสบการณ์ทางการเมืองน้อย
แต่เมื่อวาทกรรมเชิงอนุรักษ์นิยมสามารถ establish ตัวเองลงในค่านิยมของคนเหล่านี้แล้ว
มันกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ มหาศาลมาก เพราะใจความของวาทกรรมนั้นเรียบง่าย เข้าใจง่าย และมีคุณค่าเดียว
.
วาทกรรมเหล่านี้ คือ วาทกรรม ที่มีใจความเดียวคือ การสร้างภาพทักษิณให้เป็นศัตรูของ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
ซึ่งถูกแบ่งได้เป็นประเด็นใหญ่ ทั้งหมด 6 ข้อ
1. ทักษิณ พยายามล้มล้างการปกครอง ล้มล้างสถาบัน และตั้งตัวขึ้นเป็นประธานาธิบดี
2. ปรากฏการณ์ที่มีความรุนแรง และกดทับทางการเมือง ยกตัวอย่าง เช่น ฆ่าตัดตอน และกรณีตากใบ กรือเซะ (พึ่งครบรอบไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคมนี้)
3. นโยบายทางเศรษฐกิจ ที่ถูกโจมตีว่า เป็นประชานิยม ที่ทำลายเศรษฐกิจและทรัพยากรพื้นฐานของชาติ และการเป็นทุนนิยมสามานย์
4. การคอร์รัปชั่นภายในนโยบาย โครงการรัฐ การขายชาติ และคดีความส่วนตัวของทักษิณ เช่น กรณีหุ้นเทมาเส็ก, ดาวเทียมไทยคม, โครงการ 30 บาท, โครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานและรถไฟความเร็วสูง และที่เป็นวาทกรรมหลักมาถึงวันนี้คือ โครงการจำนำข้าว
5. พรบ.นิรโทษกรรม
6. เผด็จการรัฐสภา ไม่มีอำนาจใดในรัฐสภาที่สามารถคานอำนาจของรัฐบาลทักษิณ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้
.
6 วาทกรรมนี้ ไม่เพียงเป็นวาทกรรมหลักให้แก่ขบวนการ แต่ยังมีบางวาทกรรมที่กลายเป็นวาทกรรมสำคัญ ที่กลายเป็นกาวใจให้แก่ขบวนการ
เนื่องจากในช่วงเวลานับตั้งแต่พันธมิตรตั้ง ไล่จนมาถึง กปปส. นั้นกินเวลายาวนานหลายปี
ภายในขบวนการจึงมีข้อพิพาท ที่ทำให้การรวมตัวกันของกลุ่มการเมืองนี้ไม่ประสบความสำเร็จในหลายช่วงเวลา
แต่เหตุการณ์ที่เป็นชนวนสำคัญ ที่จุดขบวนการนี้ให้ติด ก็คือ พรบ.นิรโทษกรรม ที่ทำให้ทั้งมวลชนเดิม ทั้งมวลชนใหม่ ทั้งชนชั้นกลางที่รับวาทกรรมเหล่านี้อยู่แล้ว รวมถึงเสรีนิยมที่เคยเดินออกจากขบวนการ ให้กลับเข้าร่วมขบวนการอีกครั้ง
และกลายเป็นขบวนการทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ขบวนการหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
และในที่สุดขบวนการนี้ก็สามารถเป็นเงื่อนไขของรัฐประหาร ปี 57 ที่เป็นจุดพลิกผันทางการเมือง ไปสู่การล่มสลายของกระแส และอำนาจทางการเมืองของทักษิณ
เป็นการสร้างฐานอำนาจใหม่ของชนชั้นนำ และสถาบัน เพื่อรองรับเหตุการณ์การเปลี่ยนแผ่นดิน
จนสามารถสร้างสภาวะการเมืองไทยในปัจจุบันได้สำเร็จ
.
.
อย่างไรก็ตาม
หากจะให้เครดิตหนึ่งของขบวนการต่อต้านทักษิณที่สำคัญ คือ การปลุก awareness ทางการเมืองของสังคมไทย
ประชาชนที่เป็นมรดกตกทอดของขบวนการนี้ มีทั้งฝ่ายที่ยังคงยึดมั่นในแนวคิดอนุรักษ์นิยม และกลายเป็นฐานอำนาจทางการเมืองให้แก่ทหาร และ สถาบันในทุกวันนี้
และเช่นเดียวกัน ขบวนการนี้ก็ได้สร้าง กลุ่มคนที่ต่อต้านแนวคิด และชูประชาธิปไตยเป็นวาทกรรมหลัก เพื่อสู้กับแนวคิดอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว
.
ถ้ามองภาพหยาบๆแล้ว ก็อาจพูดได้ว่า
ขบวนการต่อต้านทักษิณ ได้ดึงเอาคนที่ไม่เคยสนใจการเมือง มีส่วนร่วมกับการเมืองน้อย ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองได้สำเร็จ
และผลข้างเคียงของมันก็คือ การปลุกคนอีกจำนวนมาก ให้เข้ามาสนใจการเมืองอย่างจริงจังในระดับ critical
จนกลายเป็นมวลชนฝ่ายประชาธิปไตยในทุกวันนี้เช่นกัน
.
สุดท้ายนี้ จะบอกว่า ภายในหนังสือ ก็มีความน่าสนใจ และมีรายละเอียดที่ลึกกว่านี้ และ bias น้อยกว่านี้มาก
สามารถลองไปซื้ออ่านกันได้ ณ สำนักพิมพ์ Illuminations Editions