การเปลี่ยนชื่อสถานที่เชิงสัญลักษณ์: ความหมายแฝงในการชุมนุม

ยุทธวิธีของการเคลื่อนไหวม็อบคณะราษฎรนั้น นอกจากจะเป็นการชุมนุมที่มีการพูดถึงสถาบันกษัตริย์อย่างกว้างขวาง สิ่งที่พวกเขาทำเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ในเชิงสัญลักษณ์อย่างต่อเนื่อง โดยใช้การ “เปลี่ยนชื่อ” เป็นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ที่มีความสำคัญในแง่ของการรุกคืบอำนาจเผด็จการ ที่มีการอ้างถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์เพื่อที่จะทำลายประชาชนที่อยากเห็นประชาธิปไตยที่มีความเป็นธรรม (fairness)

พวกเขาอาจจะทำไปโดยไม่รู้ตัว หรืออาจจะเป็นมีม (meme) ที่ผู้คนในโลกออนไลน์ช่วยกันระดมไอเดีย ที่ต้องชูขึ้นมาในการทำกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งผมเชื่อว่าการเปลี่ยนชื่อนี้ไม่ใช่การจงใจล้มสถาบันกษัตริย์อย่างที่ฝ่ายขวาเข้าใจ แต่เป็นการสร้างมีม (meme) คล้ายหมุดคณะราษฎร ที่ต้องการให้เกิดความรู้สึกว่าประชาชนต้องมาก่อน เพราะประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ ซึ่งมีกษัตริย์เป็นประมุข

การตีความนี้สำคัญมาก ที่ไม่ควรเอาไปตีความในแง่ของการล้มล้างสถาบันฯ แต่เป็นการสร้างให้เกิดความเท่าเทียม นั่นก็คือคนก็คือคน คนไม่ใช่เทพเจ้า คนเท่ากัน ราษฎรก็คือคนเหมือนกษัตริย์ คำกล่าวเหล่านี้อาจดูรุนแรงในสายตาของฝ่ายขวาที่ถูกป้อนชุดความคิดจงรักภักดีอย่างรุนแรงมากตลอดหลายสิบปี แต่ความจริงแล้วเป็นสิ่งที่สามารถพูดได้ ไม่ได้อาฆาตสถาบันแต่อย่างใด

จะเห็นได้ว่าโลกออนไลน์มีการเปลี่ยนชื่อสถานที่ต่างๆมากมายดังนี้

  1. สนามหลวง เป็น สนามราษฎร์ ในวันที่ 19-20 กันยายน 2020
  2. ราชดำเนิน เป็น ราษฎร์ดำเนิน ในวันที่ 14 ตุลาคม 2020
  3. ราชประสงค์ เป็น ราษฎร์ประสงค์ ในวันที่ 15 ตุลาคม 2020

ให้คุณลองคิดต่อไปว่าการชุมนุมจะไป “เปลี่ยนชื่อ” ที่ไหนอีก ที่จะเป็นการสร้างโมเมนตัมในเชิงสัญลักษณ์ต่อไปเรื่อยๆอย่างไม่รู้จักจบสิ้น ผมขอเสนอดังนี้

  1. ราชวิถี เป็น ราษฎร์วิถี
  2. มหาราช เป็น มหาราษฎร์
  3. ราชปรารภ เป็น ราษฎร์ปรารถ

การชุมนุมประท้วงแบบ flash mob ยังดำเนินต่อไป และต้องการความหลากหลาย ความยืดหยุ่น แบบไม่จบไม่สิ้น ในทุกรูปแบบ โดยที่ยังต้องยืนอยู่ในรูปแบบของการไม่ใช้การปะทะกับเจ้าหน้าที่ แต่เป็นในรูปแบบของการส่งต่อโมเมนตัมของแนวความคิด โดยเฉพาะแนวคิดเชิงสัญลักษณ์เช่นการเปลี่ยนชื่อสถานที่สำคัญต่างๆ